นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กทม. 24 ชั่วโมง กับการดูแลยามค่ำคืนของ "ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน"
ทุกคนทราบกันดีว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหล ในช่วงเวลาค่ำคืนยังมีคนอีกจำนวนมากมายที่ยังต้องดำเนินชีวิตและหาเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดสด หรือพนักงานกะกลางคืน แต่ที่ผ่านมานั้นการดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจะมุ่งเน้นแค่ช่วงกลางวัน (เวลาทำการราชการ)
ผมเลยดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ช่วยอ.ชัชชาติออกแบบนโยบาย "ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน" ที่มุ้งเน้นรับผิดชอบดูแลชีวิตประชาชนได้อย่างรอบด้านตลอด 24 ชั่วโมง และกำกับการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลานอกงานราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ผมสามารถสรุปปัญหาที่ประชาชนใน กทม. ประสบในช่วงกลางคืน ออกเป็น 3 มิติ ได้แก่
[1. มิติความปลอดภัย]
แม้ถนนเส้นหลักจะมีเเสงไฟสว่างไสว แต่ปรากฎว่าความสว่างในซอยทางเข้าบ้าน หรือ ถนนเส้นรองยังไม่เพียงพอ รวมถึงความไม่มีประสิทธิภาพของกล้อง CCTV ทำให้เกิดพื้นที่เสี่ยงมากมายระหว่างทางกลับบ้านของประชาชน นอกจากนั้นการรับมือ อุบัติเหตุ และอุบัติภัย ยามค่ำคืนของ กทม. ยังคงเป็นภัยคุกความความปลอดภัยของประชาชน เช่น น้ำท่วมฉับพลันยามค่ำคืนเพราะ กทม. เปิดประตูระบายน้ำไม่ทัน หรือ การรับมืออัคคีภัยในพื้นที่ๆ ไม่ทันท่วงทีและต้องอาศัยการช่วยเหลือของภาคประชาสังคม เป็นต้น
[2. มิติความสะดวกสบายในการเดินทาง] เมื่อมีคนจำนวนมากยังต้องใช้ชีวิตในตอนกลางคืน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและสร้างความไม่สะดวกสบายให้พวกเขาเป็นลำดับแรก คือ การเดินทาง เนื่องจากว่าเส้นทางหลักในการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ ต่างก็หยุดให้บริการหลังเที่ยวคืน รวมถึงเส้นทางย่อยที่ไม่มีรถโดยสายอำนวยความสะดวก ทำให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวต้องเสียเงินค่าเดินทางมากขึ้นกว่าเดิม และ ไม่มีทางเลือกมากนักในการเดินทาง
[3. มิติเศรษฐกิจ] ธุรกิจตอนกลางคืนถือว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองหลวง กลุ่มคนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยามค่ำคืน แบ่งออกเป็น กลุ่ม “ทางตรง” เช่น ธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร เป็นต้น และ กลุ่ม “ทางอ้อม” เช่น พ่อค้าขายไก่ทอดหน้าสถานบันเทิง หรือ รถแท็กซี่รอรับลูกค้ากลับบ้าน แต่เมื่อเกิดวิกฤตเกิดขึ้นในสังคม เช่น วิกฤตโควิด-19 เราพบว่าธุรกิจกลุ่มดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร ร้านนั่งชิว หรือ ตลาดสดยามค่ำคืน ต่างได้รับความช่วยเหลือที่ล่าช้าทั้งที่ได้รับแรงกระทบรุนแรงกว่าธุรกิจอื่น
"ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน" ควรจะต้องเข้ามามีบทบาทอันสำคัญในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ หนึ่งในกลไกที่ต้องตัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยผู้ว่าฯ เที่ยงคืนดูแลประชาชน คือ การจัดตั้ง “ศูนย์ดูแลเมืองยามค่ำคืน” (BMA Night Control Center) ที่จะเน้นดูแลเรื่องความปลอดภัย มีการติดตั้ง Dashboard ติดตามสถานการณ์อย่างทันท่วงที เช่น ไฟดับ หรือเรื่องการรับมือกับอุบัติเหตุ อุบัติภัย และงานฉุกเฉินอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังอำนวยประสานสร้างความสะดวกสบายผ่านการส่งเสริม “การคมนาคมสาธารณะช่วงกลางคืน” การดูแลจุดจอดรถแท็กซี่ และการเพิ่มประสิทธิภาพของงานบริการภาครัฐช่วงกลางคืน เช่นการจัดเก็บขยะ หรือ งานซ่อมบำรุงต่างๆ
นอกเหนือจากนั้นงานของ "ผู้ว่าฯ เที่ยงคืน" ควรจะต้องเน้นไปที่การส่งเสริมเศรษฐกิจยามค่ำ เช่น การจัดกิจกรรม Festival ประจำพื้นที่ ตลาดกลางคืน งานอาหาร งานศิลปะ Bangkok Night Run หรือ ghost tour (ที่พบได้ในหลายๆเมือง) รวมถึงการจัดหาพื้นที่สร้างสรรค์และเพิ่มกิจกรรมตอนกลางคืน โดยเริ่มจากการใช้พื้นที่ของกทม. รวมถึงการดูแลและสนับสนุนเศรษฐกิจยามค่ำคืนแบบครบวงจร
สุดท้ายแล้วผมขอสรุปประโยชน์ที่ชาวกรุง และ คนใน กทม. จะได้รับหากนโยบาย “ผู้ว่าฯ เที่ยวคืน” ได้รับการนำไปปฎิบัติใช้จริง ออกเป็น 6 ข้อหลัก ได้แก่
1. การเพิ่มแสงส่องสว่างทั่วกทม. โดยเฉพาะตรอก ซอกซอยต่าง ๆ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาศัย
2. การเพิ่มช่องทางการเดินทางที่ปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายต่ำ
3. การดูแลควบคุม การสัญจร และ การงานซ่อมบำรุงก่อสร้าง
4.การจัดระเบียบตลาด และ พื้นที่เศรษฐกิจยามค่ำคืน
5.การดูแล จัดการและรับมืออุบัติเหตุ และ อุบัติภัยต่าง ๆ ในพื้นที่ กทม. และ พื้นที่ ๆ ส่งผลถึงกทม.
6.การส่งเสริมสร้างสรรค์พื้นที่กิจกรรม และ พื้นที่เศรษฐกิจในกทม.
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองชั้นนำระดับโลกมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นเมือง 24 ชั่วโมงที่ไม่เคยหลับใหล ดังนั้นภาครัฐโดยเฉพาะ กทม. ต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ อย่างครอบคลุมตลอด 24 ชั่วโมง