xs
xsm
sm
md
lg

FDA สั่งเลิกใช้ยา 'โซโตรวิแมบ' รักษาโควิด-19 ชี้ไม่มีประสิทธิภาพยับยั้ง 'BA.2'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เปิดเผยว่า สหรัฐฯ ไม่อนุญาตให้ใช้ยาแอนติบอดี โซโตรวิแมบ (Sotrovimab) ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า "เซวูดี" (Xevudy) ของบริษัท แกล็กโซสมิทไคลน์ (GSK) ของอังกฤษ และบริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี (Vir) ของสหรัฐฯ ในการรักษาโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ อีกต่อไป หลังมีข้อมูลชี้ว่า ยาโซโตรวิแมบ ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัส BA.2 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ซึ่งระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ อีกทั้งในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดอยู่ในสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 3 ใน 4 ของผู้ป่วยใหม่ทั้งหมดในสหรัฐฯ

คำสั่งนี้มีผลเท่ากับเพิกถอนคำสั่งเดิมเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่ง FDA อนุญาตให้ใช้ยาโซโตรวิแมบสำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ

ขณะที่ GSK และ Vir ยืนยันผลวิจัยของบริษัททั้งสองว่า ยาโซโตรวิแมบ สามารถกระตุ้นแอนติบอดีหรือภูมิคุ้มกันในร่างกายสูงพอที่จะป้องกันไวรัส BA.2 แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียไม่เห็นด้วย

Vir ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ส่งหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ว่า ทั้ง GSK และ Vir อยู่ระหว่างเตรียมจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนผลวิจัยของบริษัทว่า การเพิ่มปริมาณยาโซโตรวิแมบให้มากขึ้นจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการรักษาคนไข้ที่ป่วยจากไวรัส BA.2 พร้อมจะนำเสนอผลวิจัยนั้นให้กับหน่วยงานกำกับกฎระเบียบสาธารณสุขทั่วโลก รวมทั้งย้ำผลวิจัยของบริษัทในเดือนที่แล้ว ยาดังกล่าวลดความเสี่ยงการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลงได้ร้อยละ 79

ด้านหน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) ได้อนุมัติให้มีการใช้ยาโซโตรวิแมบ สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการป่วยรุนแรง โดยมีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการเกิดอาการป่วยรุนแรงของผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 และมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง ซึ่ง MHRA แนะนำให้ใช้ยาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 5 วัน หลังเริ่มมีอาการป่วย