นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีสื่อออนไลน์วิจารณ์การติดป้ายโฆษณาและป้ายหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) กีดขวางทางและสร้างความเดือดร้อนในการสัญจรของประชาชน ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจลงพื้นที่ตรวจตราดูแลรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ โดยเฉพาะป้ายที่ติดตั้งในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ กีดขวางทางสัญจร บดบังทัศนวิสัยของผู้ขับขี่ยวดยาน ทำลายภูมิทัศน์ที่สวยงามของเมือง ซึ่งการติดตั้งป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 - วันที่ 1 เมษายน 2565 ได้จับกุมผู้ติดป้ายโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตไปแล้ว 5,696 ราย เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 15,761,500 บาท อย่างไรก็ตาม ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา สอดส่อง กวดขัน และดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนติดป้ายโฆษณาในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่องทุกวัน
ทางด้านนายสุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของป้ายหาเสียง สำนักงานปกครองและทะเบียน ได้เวียนแจ้งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร (กกต.ทถ.กทม.) เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ก. และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้สำนักงานเขตประชาสัมพันธ์แจ้งผู้สมัครในเขตพื้นที่ให้ดำเนินการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายหาเสียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประกาศฉบับดังกล่าว โดยต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดี ไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชน หรือยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือประชาชน และจะต้องไม่กีดขวาง ทางสัญจร การจราจร
นอกจากนี้ ยังได้แนบประกาศฉบับดังกล่าว พร้อมหลักเกณฑ์ รวมถึงวิธีปิดประกาศและแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในวันรับสมัครเลือกตั้ง เพื่อเน้นย้ำให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้งตามระเบียบการปิดประกาศและติดแผ่นป้ายหาเสียงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ไม่กีดขวางทางเท้า การจราจร ไม่ทำลายต้นไม้และทรัพย์สินของทางราชการ รวมถึงมาตรการดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืน
นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีผู้สมัครติดประกาศ หรือติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งไม่ถูกต้อง หรือเกินขอบเขตที่กำหนด ผู้อำนวยการเขตในฐานะหัวหน้าหน่วยงาน มีอำนาจสั่งให้ผู้สมัครแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้สมัครไม่ดำเนินการแก้ไขภายในกำหนด ให้มีอำนาจรื้อถอน ทำลาย ปลดออก ปกปิด ลบข้อความภาพ หรือรูปรอยดังกล่าว หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ โดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครนั้น ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตามประกาศ กกต.ทถ.กทม. ต่อไป