xs
xsm
sm
md
lg

ในหลวง-พระราชินีเสด็จฯ เปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงรอเฝ้าฯ รับเสด็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 17.28 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษาณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงรอเฝ้า ฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน เฝ้า ฯ รับเสด็จ

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังศาลาศิริราช 100 ปี ถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ไชยรัตน์ เพิ่มพิกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงมณี รัตนไชยานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และผู้อำนวยการโรงเรียนแพทย์ศิริราช ศาสตราจารย์ นายแพทย์ธวัชชัย อัครวิพุธ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา และขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ทอดพระเนตร นิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" และพื้นที่ภายในอาคาร ฯ ตามลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จ ฯ ไปทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระสงฆ์ที่เจริญชัยมงคลคาถา ทรงหลั่งทักษิโณทก แล้วพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้ให้การสนับสนุนการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา และผู้มีอุปการคุณและผู้ทำคุณประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตามลำดับ

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ ไปยัง อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทอดพระเนตรนิทรรศการ "นวมินทรบพิตรศิริราชานุสรณ์" โดยแบ่งเนื้อหาการจัดแสดงเป็น 3 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 ศิริราชในสายพระเนตร นำเสนอภาพถ่ายของศิริราชในมุมมองต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้ทอดพระเนตร โซนที่ 2 สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ทรงสรรค์สร้าง นำเสนอเกี่ยวกับความเกี่ยวเนื่องของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในส่วนของอาคารต่าง ๆ และเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนา รวมถึงภาพรวมและศักยภาพของอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา และโซนที่ 3 บนเส้นทางแห่งพัฒนาวิถีประกอบด้วย บอร์ดที่ 1. ศูนย์รังสีวินิจฉัย บอร์ดที่ 2. หอผู้ป่วยวิกฤต ICCU, CCU, ICU, R CU บอร์ดที่ 3. ระบบจัดยาอัตโนมัติ และวิดีโอคลิป บนจอภาพ LED 3x6 เมตร

ต่อมา เสด็จลงยังชั้น B2 ศูนย์รังสีรักษา ทอดพระเนตรเครื่องมือรังสีรักษา ซึ่งเป็นเครื่องฉายรังสีเร่งอนุภาคอิเล็กตรอนพร้อมระบบภาพนำวิถีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องแรกและเครื่องเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีจุดเด่นในการฉายรังสีปริมาณสูงพร้อมไปกับการทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในแต่ละวันของการฉายรังสีได้ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดของก้อนมะเร็งและอวัยวะข้างเคียงได้อย่างชัดเจน เพิ่มความแม่นยำในการฉายรังสี นอกจากนี้ ในขณะฉายรังสี เครื่อง MR Linac สามารถให้ข้อมูลภาพ MRI แบบ Real-time ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของผู้ป่วยและก้อนมะเร็งรวมถึงอวัยวะข้างเคียงได้ตลอด หากพบว่ามีการเคลื่อนที่ออกนอกขอบเขตที่วางแผนไว้หรือตำแหน่งของอวัยวะข้างเคียงเคลื่อนที่เข้ามาในบริเวณที่ฉายรังสีมากจนเกินไป สามารถที่จะหยุดการฉายรังสีและปรับตำแหน่งให้ตรงเพื่อเริ่มฉายรังสีใหม่ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและลดผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยได้รับในเวลาเดียวกัน

จากนั้น เสด็จ ฯ ไปยังห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 26 เสด็จเข้าห้องประทับรับรองทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก ประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย แล้วเสด็จ ฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อม สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะกรรมการจัดสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา
เมื่อสมควรแก่เวลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสด็จ ในโอกาสนี้ด้วย

อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจัดสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในโอกาสเฉลิม พระชนมพรรษา 84 พรรษา และเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นที่ในการให้บริการทางการแพทย์ทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในของโรงพยาบาลศิริราช ที่นับวันจะมีความซับซ้อนและมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเพิ่มคุณภาพการบริการอย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการประสานงานและการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างคุ้มค่า

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ จำนวน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้าง "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา" เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานพระราชทรัพย์เพิ่มอีกจำนวน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อใช้ใน "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา" เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ตลอดจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุน

นอกจากนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อสมทบทุน "อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา" มาอย่างต่อเนื่อง

อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นอาคารสูง 25 ชั้น มีชั้นพื้นดิน 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และชั้นดาดฟ้า ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโรงพยาบาลศิริราช มีพื้นที่ใช้สอยถึง 67,551 ตารางเมตร สามารถบริการแบบเต็มศักยภาพ โดยรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี ขณะที่เตียง ICU เพิ่มขึ้นถึง 62 เตียง ที่สำคัญภายในอาคารมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีการแบ่งส่วนงานบริการเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน และงานบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการตรวจพิเศษ