พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ครั้งที่ 1/2565 และคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย หรือ Progress Report ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 เพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 25 มีนาคม 2565 ก่อนส่งให้สหรัฐฯ ใช้ประเมินจัดระดับประเทศไทยในรายงาน TIP Report ประจำปี 2565 ร่างข้อเสนอแนวทางการพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) และร่างมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP)
การตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อแสวงหาข้อบ่งชี้ สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การเผชิญเหตุ การคัดกรองเบื้องต้น การแสวงหาข้อเท็จจริง การคัดแยกผู้เสียหาย การคุ้มครองสวัสดิภาพ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามหลักสิทธิมนุษยชนและพันธกรณีระหว่างประเทศตามมาตรฐานระดับสากล
รวมทั้งได้เห็นชอบการเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ ครั้งที่ 5 และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 15
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำการทำงานร่วมกับ NGOs ด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ อาทิ โครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ในประเทศไทยของ USAID องค์การวินร็อคอินเตอร์เนชั่นแนล สำหรับกลไกการจัดการเรื่องร้องเรียนสำหรับแรงงานข้ามชาติ 4 ภาษา เทคโนโลยีเครื่องมือสื่อสารบนเรือสำหรับแรงงานรวมทั้งโครงการอาเซียน-ออสเตรเลีย เพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ (ASEAN – ACT) ในการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์โดยรัฐบาลไทย-ออสเตรเลียจะจัดทำบันทึกข้อตกลง และลงนามในการประชุมเอเปก ปี 2565
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้พยายามทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ NGOs เร่งดำเนินการในกรอบเวลาที่กำหนด และผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเทียร์ 2 ตามเป้าหมายในปี 2565