นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาเรื่อง ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่ในยุคโควิด-19 ว่า ทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 ยังอยู่กับคนเราตลอดไป ขณะนี้ที่สถานการณ์ดีขึ้นก็เพราะการสวมหน้ากากอนามัย และการรับวัคซีน แต่เมื่อไรก็ตามที่ถอดหน้ากากออก มีโอกาสที่โรคจะกลับมารุนแรงแน่นอน เพราะหน้ากากไม่สามารถป้องกันโรค 100% และส่วนใหญ่ของคนติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้ 70-80% ไม่มีอาการ โดยพบว่าหากมีการติดเชื้อไข้หวัดร่วมกับโควิด-19 จะทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น ปอดอักเสบ ซึ่งในจำนวนของผู้ป่วยโควิด-19 มี 10% ที่มีการติดเชื้อไวรัสอื่นร่วม และมีถึง 3% ที่มีการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ การรับวัคซีนป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 จึงถือเป็นทางออกที่ดีในการป้องกันโรค
นายแพทย์ทวี กล่าวว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ปัจจุบันมีการฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงฟรี ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คนป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก พบว่าช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรค เช่นเดียวกับโควิด-19 การรับวัคซีนก็ช่วยลดความรุนแรงและลดอัตราการเสียชีวิต โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ในวันเดียวกับการรับวัคซีนโควิด-19 ไม่จำเป็นต้องมีระยะห่างอีกต่อไป เพียงแต่ฉีดคนละแขน เพราะแทบไม่ก่ออาการข้างเคียง โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการผลิตและฉีดมากว่า 80 ปีแล้ว พร้อมย้ำว่า การตรวจ ATK ควรทำเมื่อมีความจำเป็น เช่น มีอาการ หรือไปสัมผัสใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง เพราะไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการสิ้นเปลือง และเพิ่มความเสี่ยงเรื่องผลบวกลวง ในอนาคตหากกลายเป็นโรคประจำถิ่น ATK ควรสงวนไว้เพื่อใช้กับคนที่มีข้อบ่งชี้ มีอาการ เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้ในการตรวจคัดกรองคนเพื่อเข้าทำงาน หรือสถานที่อีกต่อไป
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระพงษ์ ยอมรับว่า การแยกระหว่างไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน มีอาการใกล้เคียงกัน ดังนั้นการใช้ ATK ในการตรวจคัดกรองก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้ และร่วมกับมีเกณฑ์ชี้วัดจากการสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว หรือในที่ทำงาน ก็จะช่วยคัดกรองแยกโรคได้ส่วนหนึ่ง พร้อมย้ำวัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความจำเป็นในการช่วยป้องกันกลุ่มเสี่ยง 608 ทั้งผู้สูงอายุ คนป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ หรือแม้กระทั่งเด็กอายุ 6 เดือน โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น 3 หรือ 4 สายพันธุ์ ไม่แตกต่างกัน มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดี เชื่อว่าในอนาคตต่อไปจะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สาเหตุที่ตอนนี้ยังพบ 3 สายพันธุ์ เนื่องจากโรงงานผลิตบางแห่งยังมีศักยภาพผลิตแค่ 3 สายพันธุ์ อีกทั้งตัวสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ที่บรรจุในวัคซีน มีความใกล้เคียงกัน ทั้งซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถเริ่มฉีดได้ในราวต้นเดือนพฤษภาคมนี้