ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่าหลายคนเห็นพาดหัวข่าวเรื่องไทยพบโอมิครอน BA2.2 คล้ายกับที่ระบาดหนักในฮ่องกงจึงเริ่มเกิดความกังวลว่า ไวรัสสายพันธุ์นี้จะเข้ามาระบาดและเป็นปัญหาในไทยเหมือนในฮ่องกงหรือไม่ ไวรัส BA.2.2 หน้าตาเหมือน BA.2 มาก โดยตำแหน่งบนโปรตีนหนามสไปค์ของ BA.2.2 ที่ตำแหน่ง 1221 เกือบจะถึงปลายของโปรตีนแล้ว เปลี่ยนจาก I (Isoleucine) ไปเป็น T (Threonine) เรียกว่า I1221T การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งนี้อยู่นอกตำแหน่งที่มีผลต่อการหนีการจับของแอนติบอดี
ดังนั้นเชื่อว่าความสามารถในการหนีภูมิของวัคซีนของ BA2.2 ไม่แตกต่างไปจาก BA.2 ปกติ ส่วนหน้าที่อื่นๆ ของโปรตีนสไปค์ที่อาจมีผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่ เริ่มมีคำอธิบายออกมาบ้างว่า I1221T นี้ อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หรือ ไม่มีนัยสำคัญอะไรทางชีววิทยา แต่บทบาทของกรดอะมิโนดังกล่าวยังไม่ชัดครับว่าจะทำให้ไวรัสเปลี่ยนไปอย่างไร
ประเด็นเรื่องคุณสมบัติการแพร่กระจายของไวรัส BA.2.2 ถ้าดูเฉพาะในฮ่องกง จะเห็นว่า เกือบ 100% ของไวรัสที่ระบาดเป็น BA2.2 ทั้งสิ้น ทำให้มีการมองว่าเป็นไวรัสที่แพร่กระจายได้ไวมาก แต่ ถ้าดูการแพร่กระจายของไวรัสสายพันธุ์นี้ในประเทศอื่นๆที่มี BA.2 ปกติระบาดอยู่แล้วด้วย จะเห็นภาพที่แตกต่างกันชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น UK หรือ USA ที่พบ BA.2.2 เช่นกัน ก็ไม่พบการเพิ่มของเคสแบบกรณีของฮ่องกง ลักษณะนี้ทำให้คิดได้ว่า ปรากฏการณ์ในฮ่องกงไม่ใช่เป็นเพราะ BA.2.2 ที่แพร่ไว แต่เป็นเพราะไวรัสตัวแรกที่เข้าไปสร้างปัญหา และ แพร่กระจายก่อนไวรัสตัวอื่นๆคือ BA.2.2 หรือที่รู้จักกันคือปรากฏการณ์ Founder Effect พูดง่ายๆคือ BA.2.2 เข้าไปจองพื้นที่ในฮ่องกงก่อนใคร ทำให้สายพันธุ์อื่นที่ตามมาทีหลังวิ่งตามไม่ทันนั่นเอง
ประเทศไทยบริบทต่างจากฮ่องกง ผมคิดว่า BA.2.2 เข้ามาตอนนี้คงไม่มีที่ให้ขยายตัวมาก เพราะ BA.1 และ BA.2 ครองพื้นที่ในประเทศไทยไปมากพอสมควรแล้ว