นายแพทย์เกียรติภูมิ วงค์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2 /2565 วันนี้ เพื่อวางกรอบรองรับการเป็นโรคประจำถิ่นของโควิด-19 ว่า ต้องทำอย่างไร โดยจะแบ่งเป็น 4 เฟส ของการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ได้แก่ ระยะที่ 1 (12 มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting ต้องออกแรงกดตัวเลขไม่ให้สูงกว่านี้ เป็นระยะต่อสู้ เพื่อลดการระบาด ลดความรุนแรงลง ระยะที่ 2 (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือ การคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ 3 (ปลาย พ.ค.-30 มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ 1-2 พันราย และระยะที่ 4 ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เรียกว่า Post pandemic คือ ออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น
โดยช่วงแรก มีนาคม-เมษายน ภายใน 1 เดือน จะพยายามให้กราฟตัวผู้ป่วยติดเชื้อที่ตอนนี้เป็นขาขึ้น ให้คงตัว เป็นแนวระนาบ จากนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม- มิถุนายน เป็นช่วงที่ผู้ป่วยติดเชื้อจะค่อยๆ ลดลง ในช่วงปลายมิถุนายน หรือราว 30 มิถุนายน ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อคาดเหลือ 1,000-2,000 คนต่อวัน ทั้งนี้ จะต้องมีการปรับแก้กฎหมายถึง 9 ฉบับ เพื่อเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น และต้องทำให้มาตรฐาน COVID Free Setting เป็นมาตรฐานการควบคุมโรคในอนาคต มีแนวทางการรักษาที่เหมาะสม สอดคล้องกัน และในส่วนของอัตราการเสียชีวิตก็ต้องลดลงเหลือประมาณ 1 ใน 1,000 โดยอัตราการเสียชีวิตของไทยขณะนี้อยู่ที่ 0.19% ขณะที่ทั่วโลกอยู่ที่ 1.3%