xs
xsm
sm
md
lg

“ทนายเชาว์”ให้ความรู้ กม.ผ่านคดี”แตงโม” ยันพี่ชายร่วมบิดา-มารดา ไร้อำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นายเชาว์ มีขวด ทนายความอาสา โพสต์เฟซบุ๊ก Chao Meekhuad ระบุว่า เรียนรู้กฎหมายผ่านคดีแตงโม “ผู้เสียหาย”คือใคร “บุพการี”และ”ผู้สืบสันดาน”กับ “ทายาท” แตกต่างกันอย่างไร

“ผู้เสียหาย”
มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 4, 5 และมาตรา 6
มี 2 ประเภทด้วยกัน คือ 1.ผู้เสียหายที่แท้จริง 2. ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย

ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย โดยผลของกฎหมายตามมาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
- ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิด ซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ
- บุพการี ผู้สืบสับดาน สามีหรือภรรยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้

“บุพการี”คือ ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป คือ บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ทวด

“ผู้สืบสันดาน” คือ ญาติสืบสายโลหิตโดยตรงลงมา คือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ

“บุพการี”และ”ผู้สืบสันดาน” ที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงแตกต่างกับคำว่า “ทายาท” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 บัญญัติว่า "ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา

พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกันตามมาตรา 1629 (4) แม้จะเป็นทายาทแต่ก็มิใช่ บุพการีหรือผู้สืบสันดานที่จะมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตาม ป.วิอาญา มาตรา 5

เมื่อไม่มีอำนาจก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรในทางคดีได้รวมทั้งการแต่งตั้งทนายความเข้าไปยุ่มย่ามในคดี
เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยให้เข้ากับคดีที่กำลังโต้เถียงกันครับ