นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ในช่วงวันที่ 6-8 มีนาคม 2565 พบมวลอากาศเย็นแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ทำให้มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคใต้ ที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำท่วมเฉียบพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงต้องดูแลสุขภาพและเตรียมความพร้อมรับมือกับพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ด้วยหลัก 3 x 5 เริ่มจากเตรียมความพร้อมรับมือพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1) ติดตามสถานการณ์การเกิดพายุฤดูร้อน และฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และให้รับฟังการแจ้งเตือนภัย การสื่อสารความเสี่ยงจากหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อเตรียมการรับมือ กับสถานการณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น
2) เฝ้าระวังทางสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงด้านสุขภาพในครอบครัว เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคลื่อนไหวโดยสังเกตอาการป่วย
3) เตรียมจัดเก็บบรรจุยาสามัญประจำบ้าน ยาที่ต้องใช้เป็นประจำ และอุปกรณ์ ช่วยพยุงตัวอื่นๆ ให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อรองรับหากมีการแจ้งให้อพยพจากพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เมื่อเกิดเหตุในพื้นที่ให้ดูแลสุขภาพ ความปลอดภัยของตนเอง และครอบครัว 5 ขั้นตอน คือ
1) หากเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันและเกิดเหตุภายในบ้านเรือน ให้รีบยกสะพานไฟ ภายในบ้านลง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่วไหล หากมีการแจ้งให้อพยพ ให้รับเคลื่อนย้ายออกจากบ้าน ตามที่เจ้าหน้าที่แจ้งโดยเร่งด่วน
2) หลีกเลี่ยงการออกไปนอกตัวอาคารบ้านเรือน อยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในช่วงเกิดฝนตก ฟ้าคะนอง หรือฟ้าผ่าเพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตจากฟ้าผ่า
3) หลีกเลี่ยงการเล่นหรือสัมผัสน้ำเน่าขัง อาจส่งผลให้เชื้อโรคอาจเข้าตา ปาก จมูก และบาดแผลอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงตายได้ หากจำเป็นต้องสัมผัสน้ำเน่าเสียจากน้ำท่วมขังยาวนาน ต้องสวมรองเท้ายางหรือชุดป้องกันน้ำท่วม และหลังสัมผัสน้ำเน่าเสียต้องล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
4) ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยหมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการกินอาหารค้างคืน หรืออาหารที่มีกลิ่นและรสชาติที่ผิดไปจากปกติ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากอาหารและน้ำเป็นสื่อ เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน โรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น และอย่าทิ้งขยะ อุจจาระ เศษอาหาร ลงในน้ำให้ใส่ถุงดำ มัดปากถุงให้แน่น
5) ตรวจตรา และหมั่นสังเกต เฝ้าระวังสัตว์มีพิษและแมลงนำโรค ที่มากับกรณีการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง รวมทั้งแมลงก้นกระดก ที่อาจส่งผลทำให้เกิดอันตราย เจ็บป่วยและเสียชีวิต
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน หากมีการอพยพไปในศูนย์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้ป้องกันตนเอง และเคร่งครัดการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากตลอดเวลา