องค์การอาหารและการเกษตร หรือ เอฟเอโอ (FAO) แห่งสหประชาชาติ รายงานว่า ราคาอาหารโลกในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 24.1 เมื่อเปรียบเทียบปีที่แล้ว โดยน้ำมันพืชและผลิตภัณฑ์จากนมปรับราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อคนยากจนโดยเฉพาะในประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหาร
นายอูปาลี กับเกติ อารัตชิลลาจี นักเศรษฐศาสตร์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า ความกังวลเกี่ยวกับผลผลิตและส่งออกเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น เพราะยังมีปัจจัยสำคัญจากภาคพลังงาน ปุ๋ย และอาหารสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตอาหาร มีรายได้ลดลง ต้องชะลอการลงทุนและขยายการผลิต
ข้อมูลที่รายงานในครั้งนี้มีการรวบรวมไว้ก่อนที่รัสเซียจะบุกโจมตียูเครน แต่ในช่วงเวลานั้นมีความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดในภูมิภาคทะเลดำที่ส่งผลกระทบต่อตลาดเกษตรอยู่แล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่าความขัดแย้งที่ยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการส่งออกธัญพืช
เอฟเอโอ ระบุในรายงานว่า ราคาน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง และดอกทานตะวันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยยูเครนและรัสเซียมีการส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันประมาณร้อยละ 80 ของการส่งออกทั่วโลก ขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ส่วนราคาเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1
ในทางตรงกันข้าม มีเพียงราคาน้ำตาลเพียงชนิดเดียวที่ปรับลดลง โดยลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.9 ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากแนวโน้มการผลิตที่ดีของผู้ส่งออกรายใหญ่ในอินเดียและไทย
พร้อมกันนี้ เอฟเอโอ ยังได้ออกประมาณการครั้งแรกสำหรับผลผลิตธัญพืชในปี 2565 โดยผลผลิตข้าวสาลีทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 790 ล้านตัน จาก 775.4 ล้านตัน ในปี 2564 เนื่องจากแนวโน้มผลผลิตที่เพิ่มขึ้นทั้งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา และเอเชีย