พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคว่า การจัดงานในครั้งนี้ถือเป็นมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ที่สำคัญ เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้อง และไม่ต้องการให้มีการฟ้องร้องและบังคับขายทอดตลาด ซึ่งรัฐบาลให้ความจริงจังในการแก้ไขปัญหาความยากจน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศต่อประชาชนว่า ปี 65 คือ ปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน และทำอย่างไรให้ประชาชนมีรายได้ที่ดีขึ้น รัฐบาลพยายามเยียวยาหาทางชดเชยรายได้ให้อยู่เสมอ เช่น โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราชนะ เรารักกัน มีสุขภาพ มีการศึกษาที่ดีขึ้น และสิ่งสำคัญมีการเข้าถึงการบริการภาครัฐมากขึ้น และต้องพัฒนาการแข่งขัน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น เพื่อให้ได้รับค่าแรงสูงขึ้น
งานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ในครั้งนี้ มีสถาบันการเงินเข้าร่วมมากถึง 16 แห่ง และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการช่วยเหลือในเรื่องไกล่เกลี้ยหนี้สิน การเจรจาลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ การลดปัญหาในเรื่องการฟ้องร้อง และการถูกยึดทรัพย์สินขายทอดตลาด
นายกรัฐมนตรี กล่าววว่า ในขณะนี้มีการลงทุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่จากต่างประเทศ และต้องไปดูว่าแรงงานไทยมีความพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะทำงานร่วมกับเครื่องจักรต่างๆ และไม่อยากให้มองเพียงรายได้เพียงอย่างเดียว และสิ่งสำคัญคือ การหางานทำซึ่งยิ่งเมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ก็ทำให้การหางานยากขึ้นไปอีก แต่ทำอย่างไรที่ทำให้คนไม่เลือกงาน จึงเป็นช่วงที่ต้องหารือร่วมกันในการแก้ปัญหาต่างๆ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนนั้น ได้ให้นโยบายไปว่าต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง และลงไปดูปัญหาหนี้สินของแต่ละกลุ่ม ให้สามารถอยู่รอดได้ ไม่ถูกทวงหนี้สิน และสามารถอยู่อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้ ซึ่งถือเป็นงานในเชิงโครงสร้างที่ต้องทำต่อเนื่อง และต้องได้รับความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐ ประชาชน และสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และต้องขจัดความยากจนและพัฒนาอย่างยั่งยืนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า คือ การแก้ปัญหารายครัวเรือน ซึ่งอาจไม่สำเร็จภายใน 1 ปี แต่ถ้าหากเริ่มแก้ไปเชื่อว่าปัญหาก็จบได้ และตนต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ยั่งยืน ไม่ใช่ประเทศที่มีความแตกแยกหรือมีแต่ทะเลาะเบาะแว้ง
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เราต้องกลับมาดูสิ่งเก่าๆ หนี้สินปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาเหล่านี้มักจะมีปัญหาทุกครั้ง ตนไม่ทราบว่าสาเหตุคืออะไร ต้องกลับไปอยู่ในวังวนเดิมๆ เพราะง่ายต่อการสร้างความชื่นชอบส่วนตัวทางการเมืองหรือไม่ และขอร้องอย่าทำร้ายประชาชนอีกต่อไป