เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเครือข่ายฯ โลกร้อนจังหวัดระยอง ได้เดินทางมายื่นฟ้องอธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ 2 ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ 3 เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ที่ 5 ต่อศาลปกครองกลาง ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (1) (2) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเกิดกรณีการรั่วไหลของน้ำมันถึง 3 ครั้ง จากท่ออ่อนใต้ทะเลบริเวณทุ่นลอย (SPM) ซึ่งห่างจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปในทะเล 20 กิโลเมตร ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้เกิดคราบน้ำมันแผ่กระจายไปในท้องทะเลอ่าวระยอง จนต้องมีการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมัน หรือสาร Dispersant หลายหมื่นลิตรในการกำจัด ทำให้ก้อนน้ำมันตกสะสมอยู่ในท้องทะเลอย่างมหาศาล ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นลูกโซ่ จนยากที่จะประเมินได้
การรั่วไหลของน้ำมันดังกล่าวส่งผลกระทบมาถึงชายหาดแม่รำพึงและใกล้เคียง กระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวของประชาชน กระทบต่อพ่อค้า แม่ค้า นักท่องเที่ยว ชาวประมงพื้นบ้าน และผู้ประกอบการต่อเนื่องอีกมากมายนับหมื่นราย ในขณะที่บริษัทผู้ก่อเหตุและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถจัดการเรื่องชดเชยเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็วได้ ทั้งๆ ที่เหตุเกิดมานานเป็นเดือนแล้ว
การที่กรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวจัดทำทุ่นลอยและรับส่งน้ำมันทางท่อดังกล่าวกลางท้องทะเล โดยขาดการดูแล ซ่อมบำรุงอย่างเคร่งครัดตามเงื่อนไขในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ถือว่าเป็นเหตุสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนยกเลิกรายงาน EIA ดังกล่าวเพราะมีอายุกว่า 20 ปีมาแล้ว นอกจากนั้นการทำท่อรับส่งน้ำมันมาขึ้นบริเวณท่าเทียบเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแหงชาติ ฉบับที่ 32 (พ.ศ.2552) ลงวันที่ 30 เมษายน 2552 ซึ่งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษที่ท้องถิ่นจัดทำขึ้นเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัดระยองด้วย แต่ไม่ปรากฏว่าจะมีแผนหรือมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำมันหรือสารเคมีรั่วไหลในแผนดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงไม่อาจปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 5 รายใช้อำนาจโดยมิชอบและละเลยการปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป จึงนำความมาฟ้องศาลปกครองกลางเป็นระลอกแรก เพื่อขอให้ศาลไต่สวนและมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตและรายงาน EIA ทั้งหมดของบริษัทและกิจการดังกล่าวต่อไป