นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคโควิด-19 มีการพิจารณาแล้วจะไม่ได้เป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป ส่วนที่ผ่านมาต้องกำหนดเป็นโรคฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นโรคใหม่ และกังวลจะไม่มีที่รักษาพยาบาลและทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลว แต่ปัจจุบันคนติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ เหมือนโรคหวัดทั่วไปที่มีคนป่วยหลายแสนคนต่อวัน ก็ไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน ตอนนี้คนติดโควิด-19 ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลมีไม่มาก ขณะนี้อยู่ที่ราว 700 คน จึงไม่น่าจะเป็นโรคฉุกเฉินอีกต่อไป แต่ UCEP ยังมีอยู่ หากคนไข้โควิด-19 มีอาการรุนแรง เช่น มีโรคร่วมที่เป็นอันตรายรุนแรง อาทิ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ติดโควิด-19 แม้ว่าโควิด-19 ไม่รุนแรงมาก แต่โรคไตรุนแรง ก็จะพิจารณาให้เข้าข่ายเป็น UCEP โควิด-19 เพื่อให้ได้รับการดูแลแบบรอบด้าน ทั้งนี้ จึงมีแนวคิดเรื่องการจัดทำ UCEP พลัส ก็คือ รองรับคนติดโควิด-19 และมีโรคร่วมเดิม แม้ว่าโควิด-19 จะไม่รุนแรง ซึ่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะมีการหารือร่วมกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อพิจารณาเกณฑ์ที่เข้าข่ายรักษาแบบ UCEP พลัส แต่ในหลักการคือ คนที่ติดโควิด-19 และมีโรคร่วมเดิม แต่จะเป็นโรคอะไร ขึ้นอยู่กับข้อสรุปของที่ประชุม
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า สำหรับคนทั่วไปที่ติดโควิด-19 จากเดิมที่จะเข้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใดก็ได้ ก็ปรับเป็นการไปรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ เช่น มีสิทธิรักษาที่โรงพยาบาลราชวิถี ก็ไปใช้สิทธิโรงพยาบาลราชวิถี ถ้าอาการไม่มากหรือไม่มีอาการ โรงพยาบาลก็จะพิจารณาให้ดูแลตนเองที่บ้านหรือ HI แต่หากไม่สะดวกและไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ้านได้ ก็จะมีระบบดูแลที่โรงแรม (Hotel Isolation) โดยที่จะมีบุคลากรติดตามอาการทางระบบออนไลน์ได้ แต่ไม่ใช่ฮอสพิเทล