xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม อย่าแชร์! หน้ากากอนามัยที่ไม่ระบุ VFE กันไวรัสไม่ได้ เป็นข้อมูลเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ตามที่มีข้อความแนะนำปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง สวมใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ระบุ VFE จะป้องกันไวรัสไม่ได้นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบและชี้แจงว่า คำว่า VFE ที่พบบนบรรจุภัณฑ์ของหน้ากาก หมายถึง ค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัส (Viral Filtration Efficiency) ของหน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ อย. อนุญาตจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสที่มาพร้อมละอองฝอยของน้ำลายได้ แม้จะไม่ได้ระบุข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสในรูปแบบ VFE

ดังนั้น ประชาชนสามารถสังเกตข้างกล่องจะระบุข้อความ Medical mask, Surgical mask หรือหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และสามารถตรวจสอบรายชื่อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย.ทางเว็บไซต์ www.fda.moph.go.th อย่างไรก็ตามโดยปกติแล้วเชื้อไวรัสจะมาพร้อมกับละอองฝอยของน้ำลาย หน้ากากอนามัยที่ระบุวัตถุประสงค์อื่น เช่น ป้องกันฝุ่นละออง ป้องกันกลิ่น แม้ว่า อย. จะไม่ได้กำกับดูแลแต่ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการทะลุผ่านของละอองฝอย และเชื้อไวรัสที่ปนมากับละอองฝอยได้เช่นเดียวกัน