xs
xsm
sm
md
lg

สสส.รณรงค์"สละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา" ชวนคนรุ่นใหม่ดื่มไม่ขับ กลับบ้านเจอคนรักปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรม "สละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา" เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก ประจำปี 2565 รณรงค์สร้างการรับรู้ชวนคนรุ่นใหม่ ดื่มไม่ขับ กลับบ้านไปเจอคนที่เรารักปลอดภัย เพื่อสุขภาวะที่ดีรอบด้าน

นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า การสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากรไทย ปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี ตั้งแต่ปี 2547-2564 พบอัตราการดื่มที่เปลี่ยนแปลงทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยปี 2547-2558 พบการดื่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5-29.5 และในปี 2564 ลดลงเหลือร้อยละ 20.9 หรือคิดเป็นประมาณ 1.9 ล้านคน และพบข้อมูลว่า การดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนถนน ขณะที่ร้อยละ 25.09 พบการดื่มแล้วขับส่งผลกระทบอย่างหนักคือ ทำให้ผู้ขับขี่และผู้ที่อยู่ในยานพาหนะได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อสังคม 2 ด้าน ได้แก่ มิติสุขภาพกาย เช่น ทุพพลภาพ ได้รับบาดเจ็บขั้นรุนแรง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ หรือเลวร้ายที่สุดคือการเสียชีวิต และมิติทางสุขภาพใจ เช่น เกิดความรู้สึกสูญเสียบุคคลสำคัญของครอบครัวในช่วงเทศกาลสำคัญ

ทั้งนี้ สสส. เชิญชวนคนรุ่นใหม่ทุกคนร่วมกันมีพฤติกรรมความปลอดภัยทางถนนด้วยการ "ดื่มไม่ขับ" โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองวันแห่งความรัก ที่คู่รักหนุ่มสาวชวนกันไปนั่งรับประทานอาหาร และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย อยากให้คู่รักทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความห่วงใยซึ่งกันและกัน ผ่านการเตือนกันและกันด้วยความห่วงใย และต้องร่วมกันดื่มไม่ขับ

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า กิจกรรมสละโสดปีเสือ อย่าเป็นเหยื่อน้ำเมา จัดขึ้นในช่วงเทศกาลวันแห่งความรัก ปี 2565 เนื่องจากเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาการดื่มแล้วขับในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืน หากมีกิจกรรมสร้างการรับรู้ลักษณะนี้บ่อยครั้งจะเป็นเครื่องมือย้ำเตือนให้คนรุ่นใหม่ในสังคมตระหนักว่าการดื่มแล้วขับเป็นอันตราย ซึ่งจะส่งผลที่ดีในอนาคตเพราะจะช่วยลดปัญหาต่างๆ จากข้อมูลกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ช่วง 7 วันอันตรายเทศกาลปีใหม่ ปี 2565 พบคดีเมาแล้วขับของคนไทยสูงถึง 3,730 คดี ประกอบกับในช่วงระหว่างปี 2563-2564 สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) พบข้อมูลข่าวทางสื่อสังคมออนไลน์ (Monitor) ประเด็นความสูญเสียสามี ภรรยา หรือบุคคลสำคัญในครอบครัวจากเหตุการณ์เมาแล้วขับอย่างน้อย 30 ข่าว สะท้อนความสูญเสียอย่างหนักที่ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ได้ จึงอยากย้ำเตือนคนรุ่นใหม่ให้นึกถึงผลกระทบจากการเมาแล้วขับ