นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "สภาล่ม กับ เสียงของประชาชน" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ จำนวน 1,152 ตัวอย่าง
พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.3 ระบุต้นเหตุสภาล่ม คือ จิตสำนึกของ ส.ส. มีปัญหา ไร้คุณธรรม เช่น ขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน เป็นพวกนักการเมืองอ้างประชาธิปไตยแต่เป็นเผด็จการเสียเอง เป็นต้น
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.8 ระบุต้นเหตุสภาล่ม คือ ความล้มเหลวของระบบการเมืองของประชาธิปไตย ร้อยละ 93.7 ระบุ ส.ส.เล่นเกมการเมืองเกินไป ไม่จริงใจแก้ความเดือดร้อนของประชาชน ฝ่ายค้านมุ่งแต่โค่นล้มรัฐบาลอย่างเดียว ร้อยละ 93.4 ระบุ ส.ส.ทำงานไม่คุ้มเงินภาษีของประชาชน ร้อยละ 93.3 ระบุ ส.ส.ขาดเอกภาพและอุดมการณ์ประชาธิปไตยแท้จริง มีการต่อรองแลกประโยชน์ ตำแหน่ง ผลประโยชน์ และใช้เงินแลกเสียงในสภา
ที่น่าพิจารณาคือ ผลกระทบจากเหตุเล่นการเมืองจนสภาล่มใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.0 ระบุ ภาพใหญ่ประเทศและประชาชนเสียประโยชน์ ร้อยละ 92.1 ระบุ เกิดวิกฤตศรัทธาต่อนักการเมือง พรรคการเมืองและระบบการเมือง ร้อยละ 92.1 เช่นกัน ระบุ ไม่สามารถออกกฎหมายสำคัญแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนได้ทัน ซ้ำเติมวิกฤตของประชาชน ร้อยละ 91.7 เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเมือง พรรคการเมืองและนักการเมืองที่ยังไม่พัฒนา และร้อยละ 91.0 ระบุ มีการใช้โซเชียลมีเดีย ขยายผลทำให้เกิดวิกฤตการเมืองนอกสภา พาคนลงถนน สร้างความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชน
ที่น่าสนใจคือ แนวทางแก้ปัญหา สภาล่ม จากเสียงของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 ระบุ แก้รัฐธรรมนูญ ปฏิรูปการเมือง ลดจำนวน ส.ส. เพิ่มบทลงโทษ ส.ส. ขาดจิตสำนึกต้นเหตุสภาล่ม ร้อยละ 93.7 ระบุ ให้พรรคการเมือง ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ร้อยละ 93.4 ระบุ ทุกภาคประชาสังคมร่วมประณาม จี้ สส.แก้วิกฤตและเคารพประชาชน ร้อยละ 93.2 ระบุ ขาน ประจานชื่อ สส. ทุกคน ต้นเหตุสภาล่มและไม่เลือกเข้ามา และร้อยละ 92.4 ระบุ ส.ส. ต้องรีบปรับปรุงตนเอง ทำงานให้คุ้มเงินภาษีของประชาชน ก่อนจะสายเกินไป ตามลำดับ
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้สะท้อนให้เห็นเป็นกระจกบานใหญ่ทางการเมืองว่า การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่จำเป็นต้องเกิดขึ้น จะจากสำนึกของพรรคการเมืองและนักการเมืองเอง หรือ จากประชาชนและทุกภาคส่วนของประชาสังคมกดดัน เพราะถือว่าการเมืองเป็นพลังอำนาจของชาติหลัก ที่ยังอ่อนแอและเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศ โดยประชาชนส่วนใหญ่มองการทำหน้าที่ของ ส.ส. ต้นเหตุสภาล่มว่า เป็นวิกฤตศรัทธาของการเมืองในวิถีประชาธิปไตย ที่ไม่เห็นหัวและให้ความสำคัญถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิดและเศรษฐกิจ ซึ่ง ส.ส. และ พรรคการเมือง ต่างมุ่งแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ต่อรอง และโค่นล้มรัฐบาล เพื่อหาทางเข้าสู่อำนาจ ครอบครองและต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง จนเกิดวิกฤตศรัทธาและความเสื่อมถอยในระบอบประชาธิปไตย
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ผลที่ตามมาคือ ประชาชนกำลังอยู่ท่ามกลาง "สภาวะปัญหาเขาควาย" (Dilemma) ระหว่าง ประชาธิปไตย กับ เผด็จการ จนก่อให้เกิดสภาวะแปลกแยกทางสังคม (Social Alienation) ในหัวใจของประชาชน คือ สภาวะไร้อำนาจ (Powerless) ของประชาชนที่จะต่อรองกับพวก ส.ส.และพรรคการเมือง ผู้กระทำตัวไม่เห็นหัวของประชาชน ใช้เงินภาษีของประชาชนเข้าสู่อำนาจและผลประโยชน์เกียรติยศชื่อเสียงบนบ่าและขึ้นกดขี่เหยียบหลังประชาชน ด้วยพฤติกรรมนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยแต่หัวใจเผด็จการ ย่ำยีความทุกข์ยากของประชาชนเฉกเช่นที่กำลังทำให้สภาล่มอยู่ในตอนนี้ ความหวังร่วมกันของประชาชน คือปฏิรูปภาคการเมืองให้เข้มแข็ง มีคุณภาพและความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถเป็นที่พึ่งในระบอบประชาธิปไตยในสภามากกว่าที่เป็นอยู่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป