xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจตั้งทีมทำคดี"แชร์ออมเงินบ้านเฟิร์น"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่มีการเสนอข่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์กรณีกลุ่มผู้เสียหายเดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ลี้ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หลังจากได้เข้าร่วมเล่นแชร์ชื่อ "แชร์ออมเงินบ้านเฟิร์น" ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 แล้วไม่ได้เงินคืน ซึ่งพบว่ามีความเสียหายจำนวนมาก โดยมีการเชิญชวนจากคนรู้จักและชักชวนผ่านทางแอปพลิเคชั่นเฟซบุ๊กให้ร่วมเล่นแชร์ ออมเงิน ออมทอง โดยให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าที่อื่น ผู้เสียหายกับพวกสนใจจึงเข้าเล่นแชร์ดังกล่าวกับผู้ต้องหา ซึ่งในช่วงแรกได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังไม่มีการจ่ายผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกผู้ต้องหาหลอกลวงเพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย

พ.ต.อ.กฤษณะ กล่าวว่า ในส่วนของคดีนี้ พนักงานสอบสวน สภ.ลี้ ได้รับคำร้องทุกข์จากกลุ่มผู้เสียหายเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายไว้แล้ว จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นพบว่ากลุ่มผู้เสียหายถูกผู้ต้องหาชักชวนให้มีการเล่นแชร์ประมาณ 4 รายการ คือ แชร์กินดอก แชร์บิลดอก (ใส่ดอก) แชร์ขั้นบันได และออมทอง รวมความเสียหายประมาณ 15 ล้านบาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดตั้งทีมสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินการในคดีดังกล่าวแล้ว ในกรณีประเด็นผู้ต้องหาเป็นอดีตแฟนของตำรวจนั้น ทางผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากการกระทำตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนฯ มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ หากมีพฤติการณ์ในลักษณะเป็นการ กู้ ยืม รับเข้าเป็นสมาชิก รับเข้าร่วมลงทุนโดยเท้าแชร์ (ในฐานะผู้กู้ยืมเงิน) ตกลงว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับลูกแชร์ (ในฐานะผู้ให้กู้ยืมเงิน) โดยการประกาศ โฆษณา ต่อประชาชนทั่วไปจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้สูงกว่าอัตราดอกเบื้อยสูงสุดที่สถาบันการเงินจะจ่ายได้ ก็เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ก.กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกประชาชนฯ ตามมาตรา 4,5 ต้องระวางโทษตามมาตรา 12 จำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000 ถึง 1,000,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ อีกทั้งการนำเข้าสู่ระบบคอมผิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือ ตามความผิดกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันที่เกี่ยวกับการลงทุนแชร์หรือร่วมทำธุรกิจที่มีการชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้ ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือของการลงทุนตามที่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นจริงหรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะการลงทุนที่อ้างว่าได้รับผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้นๆ การร่วมลงทุนกับบุคคลที่เพิ่งรู้จักกันในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ไม่เคยเจอตัวจริง ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด

ขณะนี้การหลอกลงทุนผ่านช่องทางออนไลน์ระบาดมากและมาในหลายรูปแบบ ทั้งออมทอง ออมเงิน ลงทุนในแพลตฟอร์มต่างๆ จึงต้องมีสติ คิดให้รอบคอบ ขณะที่เหล่ามิจฉาขีพมักทำให้เราหลงเชื่อนำเงินลงทุนไปช่วงแรกๆ ถอนได้แค่ครั้ง สองครั้ง เพื่อหลอกให้ตายใจ จนเราใส่เงินเพิ่มมากๆ แต่หลังจากนั้นจะมีปัญหาขัดข้อง ถอนไม่ได้ ทำให้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเสียหาย ให้รวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ทุกพื้นที่ นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะเเสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง