xs
xsm
sm
md
lg

‘พนิต’เผย First time voter กทม. พวกเขาอยากได้ผู้ว่าแบบไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “Panich Vikitsreth – พนิต วิกิตเศรษฐ์” เรื่อง “First time voter กทม. พวกเขาอยากได้ผู้ว่าฯกทม. แบบไหน?”ระบุว่า First time voter กทม. พวกเขาอยากได้ผู้ว่าแบบไหน?

อย่างที่ผมได้เกริ่นไปในโพสต์ก่อนแล้วว่าคนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น สำหรับคนที่เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกทม. จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะต้องวางแนวทางการหาเสียง และกำหนดนโยบายต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. เนื่องจากพวกเขาก็มีความต้องการที่เหมือนและต่างกัน

ถ้ายังพอจำกันได้นี่เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่คนกรุงไม่ได้เลือกผู้ว่าฯ ไม่ได้เลือกผู้บริหารของพวกเขาเอง เป็นเวลาไม่น้อยที่ทำให้เกิดคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งขึ้นมา ข้อมูลจากไทยรัฐพลัสระบุว่าคนที่จะได้เลือกตั้งผู้ว่าเป็นครั้งแรกมีจำนวนรวมกว่า 700,000 เป็นกลุ่มคนที่เรียกว่า First Time Voter ที่มีอายุ 18-27 ปี

จากประชากรทั้งหมดที่มีสิทธิเลือกตั้งในกทม.ราว 4,479,208 คน ความน่าสนใจคือคนส่วนใหญ่ในกทม.เป็นคน Gen Y ที่มีอายุระหว่าง 28 – 40 ปี และ Baby Boomer วัย 60 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนใกล้เคียงกันอย่างมาก จากข้อมูลตัวสถิติตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายผู้สมัครผู้ว่าทั้งที่มาในนามอิสระและพรรคการเมืองอย่างมาก

แล้วคนรุ่นใหม่อยากได้ผู้ว่าแบบไหน? จากประสบการณ์การทำงานและจากการที่ได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่มาบ้าง ผมคิดว่าสิ่งที่พวกเขาตั้งความหวังไว้กับผู้ว่าคนใหม่น่าประกอบไปด้วย

1. มีนโยบายในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังมานานอย่างชัดเจน ปัญหาจำนวนมากของกทม. เป็นปัญหาที่มีมานานแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เช่น ปัญหาค่าครองชีพ การจราจร ทางเท้า การขนส่งสาธารณะ น้ำท่วม ฯลฯ ปัญหาพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นคือการเสนอแนวทางแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง ชัดเจน และมีการประเมิน วางแผนว่าปัญหาใดและแก้ไขได้ทันที ปัญหาใดต้องใช้เวลาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

2. ผู้ว่ากทม. ต้องเป็นคนที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม และเป็นนักบริหารที่ทำงานคล่องพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ

3. การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ หาเสียงต่าง ๆ ของผู้สมัครไม่ควรเป็นการสร้างภาพในช่วงหาเสียงเท่านั้น เพราะในโลกที่ข้อมูลต่างๆ เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว คนรุ่นใหม่สามารเสิร์ชหาข้อมูลการทำงานที่ผ่านมาของผู้สมัครได้หมด พวกเขาจึงคาดหวังการทำงานจริงจัง และสื่อสารกับประชาชนอย่างจริงใจ และควรให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่ด้วยเช่นกัน เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ในห้วงที่มีความขัดแย้งทางการเมืองเช่นนี้สนามเลือกตั้ง กทม. จึงเป็นที่น่าจับตามองยิ่งนักว่าทั้งผู้สมัครฯจะเลือกกำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียง กำหนดนโยบายอย่างไร และผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วงวัยต่างๆ จะเลือกใคร เพราะสนามกทม.ก็อาจสะท้อนภาพการเมืองของประเทศได้ และแม้คนรุ่นใหม่อาจไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของกทม. แต่ก็เป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่มิอาจละเลยได้เช่นกัน