พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก “ผู้ว่าฯกทม.”ระบุว่า ด้วยสภาพพื้นที่ กทม.เป็นที่ลุ่มต่ำ หากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ กทม.การระบายน้ำตามธรรมชาติอาจใช้เวลานาน ทำให้บางแห่งมีน้ำท่วมขัง กทม.จึงใช้หลักวิศวกรรมเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำ
ท่อเร่งระบายน้ำหรือ Pipe Jacking เป็นอีกหนึ่งหลักวิศวกรรมที่ กทม.นำมาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ซึ่งจะใช้การระบายน้ำด้วยท่อระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพการระบายน้ำสูงกว่าท่อระบายน้ำปกติ สามารถระบายน้ำจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งก่อสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1)บริเวณปากซอยนานาใต้ 2)ซอยสุขุมวิท 31และซอยสวัสดี 3)ถนนสุขุมวิท 63 4)ซอยสุขุมวิท 107-คลองบางนา 5)ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ 17และถนนสวนพลู 6)ถนนทรงสวัสดิ์-เยาวราช-เจริญกรุง 7)ถนนพหลโยธิน(แยกเกษตรฯ) และ 8)ถนนสุวินทวงศ์
ทำให้ กทม.มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมลดลง และสถิติการเกิดน้ำท่วมขังในจุดเสี่ยงน้ำท่วมในจุดที่ก่อสร้าง Pipe Jacking ลดลงและการก่อสร้างท่อเร่งระบายน้ำเป็นวิธีการก่อสร้างที่ไม่ส่งผลกระทบกับการใช้รถใช้ถนนมากนักในขณะก่อสร้างอีกด้วย ซึ่ง กทม.กำลังก่อสร้าง Pipe Jacking อีก 4 แห่ง ได้แก่ 1)ซอยสุขุมวิท 21 2)ซอยสุขุมวิท 39 3)ถนนจันทน์ และ 4)ถนนศรีอยุธยา-พระรามที่ 6 เพื่อเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมและลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ใกล้เคียง
#กรุงเทพเปลี่ยนไปแล้ว #แก้ปัญหาน้ำท่วมกทม