xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีสุวรรณ”จี้หยุดเก็บค่าน้ำทำนาจากเกษตรกร ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยเรื่อง หยุดรีดเลือดจากปูด้วยการเก็บค่าน้ำทำนาจากเกษตรกร ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ตามที่กรมชลประทาน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ. … เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก กรณีการออกกฎกระทรวงเพื่อจัดเก็บค่าน้ำชลประทาน โดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักการใน พ.ร.บ.การชลประทานหลวง 2485 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2518 ม.8 ซึ่งกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมได้นั้น

การคิดเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรชาวไร่ชาวนาในยามนี้ แค่คิดก็ผิดแล้ว หากเป็นสมัยก่อนผู้ที่เสนอเรื่องหรือคิดเยี่ยงนี้ต้องนำไปตัดหัวทิ้งเสีย จึงจะชอบ แม้กรมชลประทานจะอ้างว่าเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการชลประทานหลวง ที่ระบุว่าน้ำเป็นทรัพยากรสาธารณะตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดแบ่งทรัพยากรน้ำสาธารณะออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ น้ำเพื่อการดำรงชีพ น้ำเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา ฯลฯ และเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางก็ตาม แต่น้ำที่เกษตรกรนำมาใช้ในส่วนใหญ่เพื่อการดำรงชีพ แม้เมื่อได้ผลผลิตก็ใช่ว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรจนร่ำรวยก็หาไม่ หากแต่ยังคงยากจนเพราะภาครัฐอ่อนแอ ปล่อยให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนพ่อค้า ขุนศึกมาโดยตลอด การกำหนดกรอบกฎหมายเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำทำนา ทำไร่ ทำสวน จึงเป็นผลงานชิ้นโบว์ดำของรัฐบาล หากไม่รีบยับยั้ง และปลดคนที่เสนอแนวคิดนี้ออกไปเสีย

นอกจากนั้น แนวคิดดังกล่าวยังเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 ม.73 ที่กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัยโดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ การออกกฎกระทรวงเพื่อเรียกเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร จึงเป็นการย้อนแย้งต่อกฎหมายแม่บทของชาติ ซึ่งสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยมิอาจปล่อยให้ผ่านไปได้ และจะสู้แทนเกษตรกรให้ถึงที่สุด แม้ในที่สุดหากกรมชลประทานจะยังคงผลักดันกฎหมายดังกล่าวต่อไป ก็พร้อมต่อสู้ในชั้นศาลปกครองจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิกถอนการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวต่อไป