แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ได้หารือถึงเรื่องการปิด-เปิดโรงเรียนและสถานศึกษา เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้ ทำให้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ส่วนใหญ่ อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กับกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมร่วมกันและจัดทำมาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ทำแผนเผชิญเหตุในกรณีพบการติดเชื้อของนักเรียนนักศึกษาหรือบุคลากรในโรงเรียน
ทั้งนี้ หลักการในการจัดการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษา มีการดำเนินการโดยใช้มาตรการที่เรียกว่า '6-6-7' คือ "6 มาตรการหลัก" ได้แก่ เว้นระยะ สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ วัดไข้ ไม่ทำกิจกรรมที่มีคนแออัดจำนวนมาก "6 มาตรการเสริม" คือ ให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกโรงเรียน หรือสถานศึกษา และ "7 มาตรการเข้มงวด" ซึ่งเป็นมาตรการที่ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการ ได้แก่ ประเมินด้วยแอปพลิเคชัน "Thai Stop Covid Plus"
นอกจากนี้ ในการจะเปิดทำการเรียนการสอนในโรงเรียนได้นั้น จะต้องมีจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเกิน 75 เปอร์เซ็นต์ และเด็กนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK เป็นระยะๆ อีกทั้งได้มีการทำแผนเผชิญเหตุเพื่อใช้ในการป้องกันควบคุมโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ซึ่งได้ส่งแผนนี้ไปยังโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว อาทิ หากพบนักเรียนหรือครูในโรงเรียนติดเชื้อหนึ่งคนเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เช่น ลงไปสอบสวนโรคและให้ปิดเฉพาะห้องเรียนนั้น 3 วัน ดังนั้น เมื่อพบผู้ติดเชื้อจึงไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน ขณะเดียวกัน ต้องขอความร่วมมือให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ช่วยประชาสัมพันธ์ถึงระเบียบและแผนเผชิญเหตุให้โรงเรียนภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถานศึกษารูปแบบหรือประเภทต่างๆ ในทุกพื้นที่ ให้มีความเข้าใจตรงกันแล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์