น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ตามขอสั่งการนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ได้รายงานว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 คณะกรรมการชุดนี้มีการดำเนินการใน 8 เรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา การกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ ผ่านกลไกธนาคารแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินของรัฐ การแก้ปัญหาหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ การแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการครูและข้าราชการตำรวจ การปรับลดและทบทวนโครงสร้างและเพดานอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และการออกมาตรการคุ้มครองสิทธิของลูกหนี้ การแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนรายย่อยและเอสเอ็มอี และการปรับปรุงขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในปี 2565 จะขยายผลสัมฤทธิ์ของการแก้ปัญหาหนี้สิน และคลี่คลายภาระหนี้ครัวเรือนได้มากขึ้น
ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการ การขับเคลื่อนแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ บุคลากรครู และเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขหนี้สินบุคลากรครู มีแนวทางแก้ไขปัญหา ดังนี้
1. ยุบยอดหนี โดยใช้ทรัพย์สินและรายได้ในอนาคตของครู เพื่อให้ยอดหนีลดลง และสามารถชำระคืนได้จากเงินเดือน เช่น ใช้เงินบำเหน็จตกทอดมาชำระหนี้บางส่วน
2. ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ให้ลดลงเหลือไม่เกิน 5% เพื่อให้สอดคล้องกับสินเชื่อ หักเงินเดือนข้าราชการที่มีความเสี่ยงต่ำ
3. ปรับลดค่าธรรมเนียมทำประกันชีวิตและการค้ำประกันโดยบุคคลที่ไม่จำเป็น 4.ยกระดับระบบการตัดเงินเดือนข้าราชการให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ มีสหกรณ์ครูจำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมครูทั่วประเทศ กว่า 2 แสนคน สมัครเข้าร่วมดำเนินการตามแนวทางที่กระทรวงฯกำหนด และคาดว่าจะมีเพิ่มในระยะต่อไป
ขณะที่การแก้ปัญหาหนี้ตำรวจ มีผู้เข้าร่วมโครงการ 4,900 ราย (ข้อมูล ณ ก.ย. 64) ได้รับการแก้ปัญหาหนี้แล้ว 2,100 ราย อยู่ระหว่างดำเนินการ 2,500 ราย และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในการพักชำระหนี้เงินต้น การจัดทำโครงการปล่อยเงินกู้ ระยะสั้นดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับสมาชิกในครอบครัวและการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสมาชิกที่มีหนี้
สำหรับประเด็นที่ต้องดำเนินการต่อไปเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการให้ลุล่วง ประกอบด้วย การเร่งปรับปรุงและยกระดับระบบการตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี อาทิ สหกรณ์ต้องกำหนดยอดเงินที่ข้าราชการสามารถกูได้โดยไม่เกินศักยภาพในการชำระคืนจากเงินเดือน กำหนดกติกาว่าหลังหักชำระหนี้ ข้าราชการต้องเหลือเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 30% การร่วมกันกำกับดูแลให้สหกรณ์ออมทรัพย์และสถาบันการเงินให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ การเร่งรัดการออกกฎกระทรวงเพื่อกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนให้ครบถ้วนตามกฎหมาย ครอบคลุมมิติ ทั้งปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสหกรณ์ให้ไม่เกิน 3% การศึกษาและแก้ไขกฎเกณฑ์ให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนำหุ้นบางส่วนมาใช้ชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก รวมทั้งศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปรับลดยอดหนี้ โดยการนำรายได้ในอนาคตบางส่วนมาใช้ลดยอดหนี้ และ ยกระดับการกำกับดูแลชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้มีผู้แทนจากกระทรวงการคลั งและธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษา คณะกรรมการที่ปรึกษาการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนียนเพื่อให้คำแนะนำ เสนอมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา