นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าตามแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาล และช่วงวันหยุด พ.ศ. 2565 มุ่งเน้นการบริหารจัดการในลักษณะพื้นที่เป็นตัวตั้ง (Area Approach) เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยอื่นๆ โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัด ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกและความรู้ด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนและประชาชน ภายใต้ "ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ"
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ เห็นชอบแผนบูรณาการและมาตรการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
1) ด้านการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565
2) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม จัดทำถนนปลอดภัย "1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย" ตรวจสอบละปรับปรุงสิ่งอันตรายข้างทาง (Roadside Hazards) อาทิ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สัญญาณไฟจราจร เสาป้าย เป็นต้น แก้ไขปัญหาบริเวณจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร
3) ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุก หยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กวดขันผู้ใช้รถกระบะที่บรรทุกน้ำหนักเกิน และรถบรรทุกขนาดเล็กที่บรรทุกผู้โดยสารในลักษณะที่ไม่ปลอดภัย เข้มงวดกับรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถเช่าให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น
4) ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ อย่างเข้มข้น รณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในชุมชน/หมู่บ้าน เป็นต้น
5) ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาลและหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมระบบช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุ ณ จุดเกิดเหตุของแต่ละพื้นที่ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินการในช่วงปีใหม่ 2565 จะแบ่งออกเป็น ช่วงรณรงค์และประชาสัมพันธ์ (1-21 ธันวาคม 2564) ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน (29 ธันวาคม 2564 - 4 มกราคม 2565) และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 7 วัน (5-11 มกราคม 2565)
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ และภาคประชาสังคม รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อร่วมลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนนทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด ควบคู่กับการดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโควิด-19