สื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2564 ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมา เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาลโดยปราศจากอคติ ซึ่งฉายารัฐบาล รัฐมนตรี และวาทะแห่งปี ประจำปี 2564 มีดังนี้
ฉายารัฐบาล - "ยื้อยุทธ์"
ภาพของรัฐบาลที่ยื้อแย่งกันเอง ทั้งในส่วนของอำนาจ และ ตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชน และการเดินหน้าประเทศ ถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และมองการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่ไสส่งอย่างไร ใครไม่อยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - ชำรุดยุทธ์โทรม
การบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - "รองช้ำ"
ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พี่ใหญ่ในตระกูล 3 ป. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประสบกับเรื่องช้ำๆ เจ็บซ้ำๆ มาโดยตลอด หลายสถานการณ์ต้องตกเป็นรอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องการเมือง โดยเฉพาะปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่เกิดความแตกแยกอย่างหนัก สะเทือนถึงพี่น้องอีก 2 ป. สั่นคลอน " 3ป Forever " ซ้ายก็น้องรัก ขวาก็ลูกน้องที่รัก หักใจเลือกใครไม่ได้ สุดท้ายต้องยอมแบกความเจ็บช้ำไว้คนเดียว
อนุทิน ชาญวีรกูล - "ว้ากซีน"
ล้อมาจากคำว่า "วัคซีน" ภาพที่ผู้คนชกต่อยยื้อแย่งวัคซีน บุคลากรทางการแพทย์ดาหน้าออกมาเรียกร้องวัคซีนชนิด mRNA ผู้คนว้าก โวย เหวี่ยง ตำหนิการจัดหาและให้บริการวัคซีนที่ถูกเลื่อนไม่มีกำหนด เพราะวัคซีนไม่มาตามนัด ไม่ว่านายอนุทิน จะชี้แจงอย่างไร กระแสตอบรับ โดยเฉพาะใน Social Media ไม่มีคำว่ารักษาน้ำใจ หรือเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะวิกฤต จนนายอนุทิน ต้องออกโต้ตอบอย่างดุเดือดผ่านสื่อและโซเชียลทุกครั้งที่มีโอกาส
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ - "นายกฯ บางโพล"
แม้ปีนี้ยังไม่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง แต่หัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรคแสดงความพร้อมประกาศตัวเป็นนายกรัฐมนตรี หนึ่งในนั้น คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผลสำรวจความคิดเห็น หรือ โพล บางสำนักเท่านั้น ที่ต้องการให้นายจุรินทร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป เปรียบได้กับการเป็นนายกรัฐมนตรีแค่บางโพล ไม่ใช่ทุกโพล
สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ - "มหาเฉื่อย 4D"
ตลอดการดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ยังแสดงฝีมือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ไม่เด่นชัด เช่น ปัญหาราคาน้ำมันแพง จนสมาคมรถบรรทุกออกมาประท้วงและหยุดวิ่ง ประชาชนกลายเป็นประชาจน เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แม้จะผุดโปรเจ็คต่างๆ ก็ถูกมองเป็นนโยบายขายฝัน ด้วยเอกลักษณ์เดินถือแก้วกาแฟชิลๆ มอบนโยบายเหมือนบรรยายธรรม โดยเฉพาะนโยบาย 4D ท่องจนเป็นคาถาติดปาก จึงได้รับฉายานี้ไป
สุชาติ ชมกลิ่น - "สุชาติ ชมเก่ง"
เกือบทุกครั้งในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อพูดถึงนโยบายของรัฐบาล หรืองานในความรับผิดชอบ นายสุชาติมักจะขึ้นต้นประโยคด้วยการชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคของตนเอง จะถูกยกยอปอปั้นอยู่เสมอ แถมยังติดสอยห้อยตามการลงพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นรัฐมนตรีหนึ่งเดียวที่ขันอาสาออกหน้ารับคำท้าขึ้นชกมวยคาดเชือกกับนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ แทนนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาท้าว่า ใครแพ้ลาออก และหากไม่รับคำท้าไม่ใช่ลูกผู้ชาย
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ - "สายขม นมชมพู"
ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่คาราคาซังมานานข้ามปี ยังไม่มีข้อยุติ ผลพวงจากภาระหนี้สินก้อนใหญ่ ยังหาทางออกไม่ได้ กลายเป็นเรื่องขมคอของหลายหน่วยงานภาครัฐ ซ้ำเจ้าตัวยังมีภาพหลุดที่ ส.ส. พรรคเล็กขุดมาอภิปรายไม่ไว้วางใจ เชื่อมโยงคลัสเตอร์โควิด-19 สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ก่อนออกมาชี้แจงว่า ภาพดังกล่าวแค่สะท้อนชีวิตหนุ่มโสด ร้องคาราโอเกะ ดื่มนมชมพู หาความสุขหลังเลิกงาน ไม่ใช่ชายเสเพล ใช้ชีวิตประมาท จนเกิดคลัสเตอร์การระบาด
พิพัฒน์ รัชกิจประการ - "ดีลล่มระดับโลก"
การท่องเที่ยวถือเป็นรายได้สำคัญของประเทศไทย อีเวนต์ที่จะปลุกให้ทั่วโลกหันกลับมามองประเทศไทย และฟื้นเศรษฐกิจอีกครั้ง คือ งานเคานต์ดาวน์ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ออกตัวการันตี Lisa วง Black Pink ศิลปินเกาหลีสัญชาติไทย ที่โด่งดังระดับโลก ตอบรับมาร่วมงาน ก่อนที่ดีลจะล่มไม่เป็นท่า เมื่อต้นสังกัดออกแถลงการณ์ดับฝัน ทำให้รัฐบาลเสียเครดิต แม้แต่โครงการ Sandbox ก็เกือบจะเป็น Sadbox ต้องลดพื้นที่ให้เหลือแค่จังหวัดภูเก็ต เพราะสถานการณ์โควิด-19 ปะทุ
วาทะแห่งปี 2564 - "นะจ๊ะ"
เป็นคำพูดติดปากของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้จะเป็นคำสามัญธรรมดาที่ใช้ทั่วไป แต่กลายเป็นคำไม่ธรรมดา เมื่อออกจากปากของผู้นำประเทศในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ที่ประชาชนสิ้นหวัง มีผู้คนล้มตายข้างถนน ตกงาน ขาดรายได้ จากวิกฤตโควิด-19 แม้นายกรัฐมนตรีเลือกใช้คำดังกล่าว เพื่อที่จะลดอุณหภูมิของสถานการณ์ลง แต่สังคมสะท้อนกลับให้เห็นผ่านเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ว่าเป็นการใช้คำไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ กระทบกระเทือนจิตใจผู้คน โดยเฉพาะการพูดหลังการประชุมวัคซีนและการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ตึกภักดีบดิทร์ ทำเนียนรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ประชาชนต่างรอคอยการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี ในการพิจารณาข้อเสนอมาตรการล็อกดาวน์กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สะท้อนภาวะความเป็นผู้นำที่ล้มเหลวในการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะวิกฤต