จากกรณีการโพสต์ให้ข้อมูลระบุว่าเช็กด่วน จ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ตกงานสูงสุด 100 เท่านั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าวและชี้แจงว่า โพสต์ดังกล่าวใช้ข้อความพาดหัวข่าวที่ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยข้อเท็จจริงไม่ใช่เงินเยียวยาสำหรับผู้ตกงานช่วงโควิด 19 แต่เป็นอนุมัติเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างกรณีนายจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนต้องปิดกิจการและไม่สามารถจ่ายค่าชดเชยได้ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่านั้น
กระทรวงแรงงานมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง หลังสถานประกอบกิจการปิดดำเนินการเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด 19 กระทรวงแรงงานออกระเบียบเพิ่มอัตราและระยะเวลาการจ่ายเงินสงเคราะห์ให้แก่ลูกจ้าง มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 มีนาคม 2563 - 28 กุมภาพันธ์ 2565 มติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโควิด 19 (Coronavirus Disease (COVID-19)) พ.ศ. 2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ ดังนี้
1. กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 3 ปี จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และจาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป”
2. กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ”ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564
ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.labour.go.th หรือโทร 1546 หรือ 1506 กด 3