xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! กพฐ.เตรียมตัดวิชาพระพุทธศาสนาออกจากระบบการศึกษาไทยปี 65

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีข่าวเกี่ยวกับความกังวลในเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา และศาสนาต่าง ๆ ว่าจะถูกตัดออกจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปี 65 นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) และโฆษกสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่ได้ตัดวิชาพระพุทธศาสนาหรือศาสนาต่างๆ ให้หายไปจากหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด ด้วยเพราะ สพฐ. ตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ในเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา รวมถึงศาสนาต่างๆ เสมอมา โดยเน้นย้ำว่านักเรียนทุกคนจำเป็นต้องรู้ เข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญ และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างสอดคล้องกับแนวคิดพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม หลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าผู้เรียนจะสามารถนำหลักธรรมคำสอนไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นผู้ยึดมั่นในความดี มีค่านิยมที่ดีงาม ให้ความสำคัญต่อสังคมและประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงอยู่ร่วมกับผู้อื่นบนความแตกต่างและหลากหลายได้อย่างเป็นปกติสุข

สำหรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้นักเรียนทุกคน ต้องเรียนเนื้อหาตามที่กำหนดไว้ในสาระการเรียนรู้แกนกลางให้ครบถ้วนทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยวิชาพระพุทธศาสนาและศาสนาต่างๆ ถูกกำหนดเป็นสาระการเรียนรู้แกนกลางในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม โดยนักเรียนจะเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและศาสนาต่าง ๆ อย่างเป็นระบบตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นชั้นปีแรกของการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน (ไม่นับการศึกษาระดับปฐมวัย) จนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 อย่างต่อเนื่อง โดย สพฐ. ไม่เคยยกเลิกสาระการเรียนรู้แกนกลางที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา แต่อย่างใด และได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระในวิชาพระพุทธศาสนาโดยสาระการเรียนรู้แกนกลาง และตัวชี้วัดพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนในระดับชั้น ป. 1–6 จำนวน 60 ตัวชี้วัด ระดับชั้น ม. 1–3 จำนวน 49 ตัวชี้วัด และระดับชั้น ม. 4–6 จำนวน 27 ตัวชี้วัด รวมทั้งสิ้น 136 ตัวชี้วัด หากพิจารณาเปรียบเทียบจำนวนตัวชี้วัดกับสาระอื่น ๆ แล้ว พบว่าสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีจำนวนตัวชี้วัดมากที่สุด รองลงมาคือ สาระที่ 4 ประวัติศาสตร์ มี 81 ตัวชี้วัด สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม มี 72 ตัวชี้วัด สาระที่ 5 ภูมิศาสตร์ มี 68 ตัวชี้วัด และสาระที่ 3 เศรษฐศาสตร์ มี 62 ตัวชี้วัด ตามลำดับ เนื่องจาก สพฐ. พิจารณาแล้วเห็นว่าสาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม มีเนื้อหาที่นักเรียนจำเป็นต้องเรียนรู้ และทำความเข้าใจในหลายประเด็น การเรียนการสอนจึงต้องมีเนื้อหาที่ลงลึกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักและปฏิบัติเป็นศาสนิกชนที่ดีได้ ได้แก่ ความสำคัญของศาสดา หลักธรรมของพระพุทธศาสนา ศรัทธาที่ถูกต้อง การยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักธรรม การปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดี และการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ

ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายของ สพฐ. ที่ให้พระพุทธศาสนา ศาสนาต่าง ๆ ศีลธรรม และจริยธรรม เป็นสาระการเรียนรู้แกนกลาง ส่งผลให้หน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับตั้งแต่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน ต้องนำสาระการเรียนรู้แกนกลางที่กำหนดไปใช้เป็นกรอบและทิศทางในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาและใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งสถานศึกษาสามารถจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาโดยกำหนดรหัสวิชา ชื่อวิชา และจำนวนชั่วโมงเรียนได้ตามบริบทของสถานศึกษา แต่ผู้เรียนจะต้องเรียนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาให้ครบทุกตัวชี้วัดภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ แม้แต่การจัดหลักสูตรโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย) ที่มุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนที่มีความโดดเด่นด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ก็ยังกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนต้องเรียนในทุกภาคเรียนอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยวิชาพระพุทธศาสนา 1 ถึงวิชาพระพุทธศาสนา 6 หรือโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด ที่มุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนทางด้านการกีฬา ก็ได้มีการกำหนดเนื้อหาด้านพระพุทธศาสนา ศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม ไว้ในโครงสร้างหลักสูตรและกำหนดให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นรายวิชาพื้นฐานที่นักเรียนทุกคนต้องเรียน เห็นได้อย่างชัดเจนว่านอกเหนือจากโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรทั่วไปจะให้ความสำคัญต่อวิชาพระพุทธศาสนาแล้ว โรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะก็ให้ความสำคัญต่อการจัดรายวิชาพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

นางเกศทิพย์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ซึ่งยังเป็นการวิจัยและพัฒนาในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมนั้น ที่อยู่ในขั้นตอนการวิพากษ์เนื้อหาสาระและได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาต่าง ๆ รวมถึงพระชั้นผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกันคือการพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดสมรรถนะผู้เรียน โดยมีเป้าหมายให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนตามความถนัด ความชอบ และมีศักยภาพตามรูปแผนของตนเองตามที่กำหนดสำหรับโรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมนั้น จึงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาเดิมไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ จึงไม่ใช่ความพยายามในการลดทอนเนื้อหาสาระการเรียนรู้แต่อย่างใด แต่หากเป็นการแสวงหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่จะสามารถช่วยให้นักเรียนเกิดความรัก ความศรัทธา เกิดเจตคติที่ดีและเห็นคุณค่าต่อสิ่งดีงามที่ประเทศไทยมี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณค่าของพระพุทธศาสนารวมถึงศาสนาต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน

สำหรับการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยกระบวนการเรียนรู้ จากเดิมที่มีการเน้นด้านความรู้ (knowledge) และทักษะ (skill) เท่านั้น ได้มีการเพิ่มในการเน้นในเรื่องเจตคติ (attitude) และการให้เห็นคุณค่า (value) ต่อสิ่งที่เรียน ไปสู่การจัดการเรียนการสอนที่จำเป็นต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้ครบทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านความรู้ มิติด้านทักษะ และมิติด้านเจตคติและคุณค่า ได้อย่างเท่าเทียมกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน และใช้วิธีการสอนแบบเชิงรุก (active learning) ที่เน้นการปฏิบัติจริง ส่งผลให้ครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ตัวอย่างเช่น จากเดิมการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาที่นักเรียนจะเน้นการปฏิบัติกิจกรรมในห้องเรียนจะต้องปรับเปลี่ยนมาสู่การเรียนการสอนที่ครูและนักเรียนจำเป็นต้องใช้วัดและศาสนสถานต่าง ๆ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้มากขึ้น นักเรียนจะมีโอกาสได้เข้าวัด มีโอกาสฝึกปฏิบัติตามแนวทาง คำสอนของแต่ละศาสนาได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการพัฒนาให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีและเห็นคุณค่าของศาสนา ศีลธรรมและจริยธรรม เป็นไปตามแนวคิดของการจัดการเรียนการสอนเพื่อไปสู่สมรรถนะผู้เรียน โดย สพฐ. ยังคงยืนยันต่อการให้คุณค่าในการเรียนการรู้ด้านศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม “อย่างไรก็ตามทั้งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ที่โรงเรียนส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 90 ทั่วประเทศใช้ในการจัดการเรียนการสอนอยู่ในปัจจุบัน และ (ร่าง) กรอบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน...(หลักสูตรฐานสมรรถนะ) ที่นำไปใช้ในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จำนวน 265 โรงเรียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นวิพากษ์ โดย สพฐ. ได้นิมนต์พระชั้นผู้ใหญ่มาร่วมวิพากษ์หลักสูตรด้วยนั้น ต่างก็เป็นการศึกษาที่มีจุดมุ่งเน้นในการพัฒนานักเรียนให้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย ให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ตามที่กำหนดไว้ในเจตจำนงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560”

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกระทรวงศึกษาธิการ สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.moe.go.th หรือโทร. 1579