xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! สัมผัสสารกันบูดบนผิวปลาทูนึ่งเสี่ยงมะเร็งผิวหนัง เป็นข้อมูลเท็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ตามที่มีการเตือนภัย สารกันบูดบนผิวปลาทูนึ่ง หากสัมผัสโดนจะทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ

ทั้งนี้ ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐาน หรือข้อมูลวิชาการที่บ่งชี้ว่า การสัมผัสสารกันบูดส่งผลให้เกิดมะเร็งผิวหนัง และกระบวนการผลิตปลาทูนึ่ง ถือเป็นการถนอมอาหารอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพปลาทูไว้ ทำให้สามารถเก็บไว้ได้ในระยะหนึ่งโดยไม่จำเป็นต้องใส่สารกันบูด

สำหรับสารกันบูด เป็นสารที่ช่วยยืดอายุการเก็บรักษา โดยการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุการเน่าเสียของอาหาร ตัวอย่างของสารกันบูด เช่น กรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก พาราเบนส์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และซัลไฟต์ เป็นต้น โดยสารกันบูดที่อนุญาตให้ใช้จะผ่านการประเมินความปลอดภัยและมีการกำหนดปริมาณที่บริโภคได้ต่อวัน

นอกจากนี้ ได้มีการสุ่มตรวจ หรือสำรวจปริมาณการตกค้างของสารเหล่านี้ให้อยู่ในค่าไม่เกินมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค