xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ชวนชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าสนใจส่งท้ายปี 2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความเชิญชวน ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจในช่วงเดือนธันวาคมนี้ โดยมีปรากฏการณ์ที่โดดเด่น ได้แก่

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดาวศุกร์สว่างที่สุดในรอบปี ดาวศุกร์ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจนถึงเวลาประมาณ 20.00 น.

คืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ฝนดาวตกเจมินิดส์ อัตราการตกประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง สังเกตได้ชัดเจนที่สุดหลังเวลา 02.00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้า ศูนย์กลางกระจายบริเวณกลุ่มดาวคนคู่

วันที่ 19 ธันวาคม 2564 ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) ดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย สังเกตการณ์ได้ตลอดคืน

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 วันเหมายัน เวลากลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ประเทศทางซีกโลกเหนือถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ถือเป็นวันเข้าสู่ฤดูร้อน

นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ดาวเคราะห์ และดาวฤกษ์สว่างให้ชมกันตลอดทั้งเดือน ได้แก่

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 05.28 น. จนถึงรุ่งเช้า

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ดาวพฤหัสบดีเคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ถึงเวลาประมาณ 22.30 น.

วันที่ 21 ธันวาคม 2564 ดาวพอลลักซ์เคียงดวงจันทร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 20.10 น. จนถึงรุ่งเช้า

วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ดาวอังคารเคียงดาวแอนทาเรส เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 05.10 น. จนถึงรุ่งเช้า

วันที่ 29 ธันวาคม 2564 ดาวพุธเคียงดาวศุกร์ เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จนถึงเวลาประมาณ 18.50 น.

ทั้งนี้ หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดี ไม่มีเมฆ สามารถรับชมด้วยตาเปล่าได้ทุกปรากฏการณ์

สามารถรับชมวิดีโอข้อมูลปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เดือนธันวาคม 2564 ได้ที่ https://www.facebook.com/NARITpage/videos/382933806954703/