xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลเผย ปชช.ส่วนใหญ่หนุนใช้บัตร 2 ใบในการเลือกตั้ง เชื่อไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์สำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง "เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใครได้เปรียบ"

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.62 ระบุว่า เห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 24.66 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 15.02 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย ร้อยละ 6.45 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย ร้อยละ 3.72 ระบุว่า อย่างไรก็ได้ และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.38 ระบุว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบ รองลงมา ร้อยละ 23.75 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 22.00 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 18.36 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 4.86 ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ1.29 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 2.28 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกล้า พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยภักดี และพรรคประชาชาติ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อความเป็นไปได้ที่จะทำให้มีพรรคชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส. เกินครึ่งของสภา (มากกว่า 250 คน) จากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.67 ระบุว่า ค่อนข้างเป็นไปได้ รองลงมา ร้อยละ 26.71 ระบุว่า เป็นไปได้มาก ร้อยละ 11.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ ร้อยละ 8.50 ระบุว่า เป็นไปไม่ได้เลย และร้อยละ 8.04 ระบุว่าไม่ค่อยเป็นไปได้

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวโน้มการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบ (แบบเขต และแบบบัญชีรายชื่อ) พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46.59 ระบุว่า บัตรทั้ง 2 ใบ เลือกพรรคเดียวกัน รองลงมา ร้อยละ 27.84 ระบุว่า บัตร 2 ใบ เลือกต่างพรรคกัน ร้อยละ 17.83 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ ร้อยละ 4.02 ระบุว่า บัตรทั้ง 2 ใบจะไม่เลือกใคร (Vote NO) ร้อยละ ระบุว่า 2.58 ระบุว่า บัตรใบหนึ่งจะไม่เลือกใคร (Vote NO) และร้อยละ 1.14 ระบุว่า จะไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง