พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก Tawee Sodsong – พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ระบุว่า อาลัยการจากไปอาจารย์ “โกร่ง” นับเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญด้านเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมของประเทศ
ผมได้รู้จักและมีโอกาสรวมงานกับท่าน อาจารย์ ดร.วีระพงษ์ รามางกรู หรือ “อาจารย์โกร่ง” ในช่วงปี พ.ศ. 2547 - พ.ศ. 2552 สมัยที่ผมเป็นรองอธิบดีและอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งท่านเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการธนาคาร จากนั้นเมื่อย้ายไปทำงานภารกิจอื่นยังได้รับความเมตตาจากท่านอาจารย์โกร่งที่ให้คำปรึกษาแนะนำตลอดมา จึงทราบดีว่าท่านเป็นผู้ยึดมั่นในความยุติธรรม มีความสัตย์ซื่อ มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลังเป็นที่ประจักษ์
ท่านอาจารย์โกร่ง ยังได้อุทิศเวลาเพื่อให้ความรู้ กับข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ เครือข่ายกระบวนการยุติธรรมด้านเศรษฐกิจและการเงิน อาทิ ในการฝึกอบรมสัมมนา “เทคนิคการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ โดยใช้ความรู้ด้านการบัญชี ภาษีอากร และการเงิน” ณ สถาบันวิทยาการตลาดทุน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ท่านกล่าวไว้ ตอนหนึ่งว่า
“ปกติกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ กฎหมาย จะตามไม่ทันอาชญากร เป็นธรรมชาติที่อาชญากรกับตำรวจเหมือนหนูกับแมว หนูต้องอยู่หน้าแมวเสมอเมื่อไหร่หนูอยู่หลังแมวแปลว่าหนูตายแล้ว ความยุ่งยากในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ และการเงินระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาให้เป็นอย่างมากอย่าว่าแต่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเลยแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในตลาดเงิน ตลาดทุนของโลกก็ติดตามไม่ทัน ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นก็ยังตามไม่ทัน ดังนั้นความจำเป็นในการสร้างองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการปฏิบัติ การวิจัยและพัฒนา การฝึกอบรม จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและไม่มีขอบเขตจำกัด การบัญญัติกฎหมายออกกฎระเบียบเพื่อให้ตามทันอาชญากรถ้าไม่มีการปฏิบัติจริง ไม่มีการฝึกอบรม ไม่มีการทำความเข้าใจในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะไม่เกิดประโยชน์”
หรือ ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “สร้างทักษะ แนวคิด วิธีการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม” (สวนนงนุช พัทยา พ.ศ.2553) ที่ท่านอาจารย์โกร่ง ได้กรุณาร่วมรับฟังปัญหาหนี้สินที่แบ่งกลุ่มสัมมนาทุกกลุ่มและเป็นวิทยากร โดยได้เสนอแนะว่า
“ให้ออกกฎหมายยกเลิกนิติกรรม ‘ขายฝาก’ เสีย (การขายฝากตามกฎหมาย คือ การซื้อขายชนิดหนึ่ง แต่ในความจริงการขายฝากเป็นรูปแบบหนึ่งของการกู้ยืมเงิน เจตนาที่แท้จริงของผู้ขายฝากต้องการกู้เงิน แต่เจ้าหนี้ไม่ต้องการผูกพันในรูปสัญญากู้เงินเพราะมีอัตราเสี่ยงสูง จึงให้ลูกหนี้ทำสัญญาในรูปขายฝาก ซึ่งทำให้เจ้าหนี้มีหลักประกันที่มั่นคงและไม่ยุ่งยากเหมือนการจำนองหรือจำนำ เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกเป็นของผู้ซื้อฝากทันทีที่ทำสัญญาขายฝาก หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ไถ่ถอนภายในกำหนดก็หมดสิทธิ์ไถ่ ผู้รับซื้อฝากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องดำเนินคดี) ให้เหลือแต่นิติกรรม “จำนอง” สำหรับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ (จำนอง คือการประกันหนี้ด้วยทรัพย์ ผู้จำนองจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์จะจำนองเป็นประกันหนี้ของตน หรือของผู้อื่นก็ได้ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะเข้าครอบครองหรือยึดทรัพย์ที่จำนองเองไม่ได้ จะต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้รับจำนองจะต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเอาเงินมาชำระหนี้ หรือให้ทรัพย์จำนองหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าหนี้) จะช่วยให้ชาวบ้านที่เป็นลูกหนี้ไม่ถูกเอาเปรียบและจะเป็นคุณูปการสำหรับลูกหนี้อย่างยิ่ง”
ในช่วงที่ผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ท่านกรุณาให้คำแนะนำแนวทางในการทำงาน จึงทราบว่าท่านอาจารย์มีความรู้และประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง
เกียรติคุณความดีของท่านอาจารย์โกร่ง เป็นที่ประจักษ์ที่ได้อุทิศตนเพื่อสาธารณะสร้างความเป็นธรรมในการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง และนโยบายสาธารณะที่สร้างสันติสุขแก่ประเทศ ขอน้อมรำลึกครับ