พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊ก "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha" ระบุว่าอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ร่วมก้าวสู่ยุค Next Normal พลิกฟื้นเศรษฐกิจ สู่ความเข้มแข็งร่วมกัน
พี่น้องประชาชนที่รักครับ ณ เวลาปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า ทั่วโลกเรากำลังได้รับผลกระทบจากความไม่สมดุล 3 เรื่อง ที่เกิดจากการใช้ชีวิตของชาวโลกเอง ได้แก่
(1) ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติ และโรคระบาด
(2) ความไม่สมดุลระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยี ทำให้เกิดการพัฒนาแบบเหลื่อมล้ำ เพราะเข้าไม่ถึงจึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างไม่เท่าเทียม มือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นต้นตอของการแบ่งแยกประเทศออกเป็นกลุ่มๆ
(3) ความไม่สมดุลท่ามกลางมวลมนุษยชาติด้วยกันเอง ทำให้เกิดการตกยุค ด้อยพัฒนา หรือถูกทอดทิ้ง ของคนบางกลุ่ม บางอาชีพ และขยายขอบเขตไปถึงความไม่เสมอภาคระดับประเทศ ซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันของชาวโลก ที่ปรากฎชัดมากยิ่งขึ้นจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้
ดังนั้นในช่วงวันที่ 26 – 28 ต.ค.นี้ ที่เป็นการประชุม “สุดยอดอาเซียน” ครั้งที่ 38-39 จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย จะได้อภิปรายหารือในประเด็นความท้าทายต่างๆ ที่ผมกล่าวมานั้น หารือร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งประเทศคู่เจรจาชั้นนำของโลก ได้แก่ จีน สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้แล้ว ยังมีองค์การอนามัยโลกและองค์การการค้าโลก ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดอาเซียนในปีนี้ด้วย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประชาคมโลก ให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤตโควิดไปด้วยกัน ให้พร้อมฟื้นฟูและพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยไม่เพิกเฉยต่อปัญหาแทรกซ้อนด้านความมั่นคงและกรณีพิพาทต่างๆ ระหว่างกันด้วย เพื่อสร้างสภาพที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก สอดคล้องกับแนวคิดหลัก "เราห่วงใย เราเตรียมพร้อม เรารุ่งเรือง” (We Care, We Prepare, We Prosper) ตามที่ประเทศบรูไนฯ ได้นำเสนอ ในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้
ในการประชุมครั้งนี้ รัฐบาลไทยได้ผลักดันแผนยุทธศาสตร์สำหรับอาเซียน ให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนชาวไทย และผลประโยชน์ร่วมกันกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา อย่างน้อย 6 ด้าน ดังนี้
(1) ด้านวัคซีน โดยส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทั้งในอาเซียนและกับคู่เจรจา รวมถึงการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 เพื่อส่งเสริมให้ทุกประเทศในอาเซียน สามารถเข้าถึงและได้รับการกระจายวัคซีนอย่างเท่าเทียม
(2) ด้านสุขภาพ โดยจัดให้มีคลังสำรองอุปกรณ์ทางการแพทย์อาเซียน สำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และการจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข และโรคอุบัติใหม่ เพื่อทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุข และพึ่งพาตนเองได้
(3) ด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยส่งเสริมการเปิดภูมิภาค ด้วยการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทั้งทางราชการ ทางธุรกิจ และการท่องเที่ยว ซึ่งสอดคล้องรองรับการเปิดประเทศของไทย ในการหารายได้มาหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจในทุกระดับของประเทศ
(4) ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน แบบ Next Normal ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะ เพิ่มพลังงานสะอาด ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเน้นการรักษาสมดุลในทุกมิติ โดยไทยจะผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG นี้ ให้เป็นรูปธรรมในระหว่างการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2022 นี้ด้วย
(5) ด้านการศึกษา เทคโนโลยีดิจิทัล และนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคใหม่ เช่น e-Commerce, Digital Currency, SMEs, Startup, Big Data, Tele-medicine ฯลฯ ไปจนถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ที่จะก่อให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่ชาญฉลาด เมืองอัจฉริยะ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการยกระดับเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและเชื่อมโยงกัน ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอย่างก้าวกระโดด ทั้งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและโทรคมนาคม รวมทั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ที่ได้มีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มากมาย ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา และไทยมีแผนที่จะสร้าง “ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์” ภายใต้โครงการ EEC เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสตาร์ทอัพ ของภูมิภาคด้วย
(6) ด้านความมั่นคง ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก ที่ไม่เพียงจะส่งเสริมให้การแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน เป็นไปอย่างราบรื่นแล้ว แต่ยังสนับสนุนให้การพัฒนาในภูมิภาค มีความต่อเนื่องอย่างไม่สะดุด ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและลดความหวาดระแวงระหว่างกัน รวมทั้งการรักษาความเป็นหนึ่งอันเดียวกันและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในเวทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อยกระดับเสถียรภาพ ยุติความขัดแย้ง และลดการเผชิญหน้า หันมาร่วมมือกันพัฒนาเพื่อประชาชนของทุกประเทศ
จากแผนการผลักดันนโยบายทั้ง 6 ข้อ ที่เป็นผลมาจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทต่างๆที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ประเทศไทยของเรา จะสามารถเดินก้าวไปสู่ยุค Next Normal พร้อมกับอาเซียนและประเทศชั้นนำของโลก ผมเชื่อมั่นว่าผลจากการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศไทย ในการกระชับความร่วมมือกับอาเซียนและประเทศหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ รองรับการเปิดประเทศของเราในเร็ววันนี้ ที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความร่วมมือในด้านต่างๆให้กลับมาเหมือนเดิมและดียิ่งขึ้น โดยที่ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้นำได้ในทุกด้าน และใช้โอกาสหลังวิกฤตนี้ พลิกโฉมการพัฒนาประเทศไทยให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอนครับ