พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'ผู้ว่าฯ อัศวิน' ระบุว่า น้ำท่วมขังใน กทม. ส่วนใหญ่มาจากฝนตกหนัก ด้วยพื้นที่ กทม. มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งเมื่อมีฝนตกหนัก มีปริมาณฝนรวมเกินกว่า 100 มม. จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้
กทม.เตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง แก้ไขจุดเสี่ยงให้มีน้อยที่สุด โดยใช้หลักวิศวกรรมมาแก้ไข มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อเร่งระบายน้ำ และพื้นที่กักเก็บน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. อย่างต่อเนื่อง
จากที่อดีตกรุงเทพฯ ยังมีทุ่งนา ป่ากก ร่องสวน ที่เป็นพื้นที่รับน้ำได้ แต่ปัจจุบันพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลง กลายเป็นบ้าน คอนโด ซึ่งตั้งอยู่ในระดับสูงกว่าพื้นถนน เมื่อฝนตกลงมา น้ำทั้งหมดจึงไหลไปรวมที่ถนนก่อนไหลลงท่อระบายน้ำ
การแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. ได้ใช้หลักวิศวกรรมมาแก้ไขระบบการระบายน้ำ โดยธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) สร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง
ทำให้วงเวียนบางเขน และปากซอยสุทธิพร 2 น้ำไม่ท่วมขังเลยในปี 2563 จากเดิมที่เคยท่วมมากกว่า 10 ครั้ง ในปี 2560
ท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) สร้างเสร็จแล้ว 4 แห่ง ทำให้ ถ.เยาวราช ถ.เจริญกรุง และแยกอโศก - ถ.สุขุมวิท 71 น้ำไม่ท่วมขังเลยในปี 2563
แก้มลิง สร้างเสร็จแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ 1.บึงรางเข้ 2.ประชานิเวศน์ 3.บึงเสือดำ 4.หมู่บ้านสัมมากร 5.หมู่บ้านเฟรนชิพ
ทำให้น้ำท่วมขังลดลง จากปีก่อน ๆ
ผลจากการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. จากการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) ท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) และแก้มลิง ทำให้พื้นที่ที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก มีจำนวนน้ำท่วมต่อปีลดลง โดยในบางพื้นที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังเลยในปี 2563
กทม.ใช้หลักวิศวกรรม เข้ามาแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม จนสามารถลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมได้มากถึงเกือบครึ่งหนึ่ง ทำให้ในปีนี้ เรามีจุดเสี่ยงน้ำท่วม ลดลงเหลือ 12 จุด ส่วนจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมเหลือ 51 จุด
และภายในปีนี้ เรามีโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ก่อสร้างจนเสร็จ เพิ่มขึ้นอีกหลายโครงการ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้มากกว่าเดิม ทำให้คาดว่าในปี 2565 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในกทม.จะลดลงไปอีก จนเหลือเพียง 8 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมก็ลดลงไปจนเหลือ 36 จุด
นอกจากจะพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและเตรียมรับมือก่อนหน้าฝนทุกปีแล้ว ในช่วงฤดูฝน กทม.ก็ได้เฝ้าระวังติดตามพยากรณ์ฝนจากเรดาร์ เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ และเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมระบายน้ำออกได้ทัน ไม่ทำให้น้ำท่วมขังเวลานาน แต่หากมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังในจุดเสี่ยงน้ำท่วม และหน่วยแก้ปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉิน (หน่วย Best) เข้าแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทันที
กทม. พัฒนาระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องครับ