นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ในช่วงวันที่ 28 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2564 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้น กระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ที่แม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา อำเภอพิมายและอำเภอชุมพวง ลำน้ำพรม แม่น้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเพชรบุรี เป็นต้น
กรมชลประทานเตรียมพร้อมรับมือน้ำหลาก โดยเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขัง พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมสูงสุด เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำและพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก รวมถึงกำชับให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ตลอดจนแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ พร้อมกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ