xs
xsm
sm
md
lg

ซูเปอร์โพลเผย ปชช.กังวลภัยทางไซเบอร์ แนะใช้"สังคมคุมสังคม"เสริมระบบลดปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามแบบผสมผสาน เรื่อง "ปัจจัยเสี่ยงต่ออันตรายทางไซเบอร์" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,017 ตัวอย่าง

ที่น่าเป็นห่วง คือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 94.2 พบการระดมปลุกปั่นในโลกโซเชียลมีเดีย และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างความแตกแยกของคนในชาติ และสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 81.7 เคยพบปัญหาข้อมูลการค้าขาย ธุรกรรมทางธุรกิจผิดปกติจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ออนไลน์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 76.0 เคยถูกหลอกลวง เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบออนไลน์ และการใช้โซเชียลมีเดีย เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 75.5 เคยเจอความไม่ปลอดภัยกับข้อมูลส่วนตัวและอื่นๆ จากการใช้บริการธนาคารและสถาบันการเงิน เช่น การถูกดูดเงินออกจากบัญชี การโอนเงิน การใช้ออนไลน์แบงค์กิ้ง เป็นต้น และส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 68.5 เคยถูกบูลลี่ (Bully) ข่มขู่ คุกคาม เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โซเชียลมีเดีย และการใช้ออนไลน์ต่างๆ

ที่น่าพิจารณาคือ เกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48.9 พบปัญหาค่อนข้างมากถึงมากที่สุดว่า หน่วยงานรัฐยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่บูรณาการเชื่อมโยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ในขณะที่ร้อยละ 40.3 พบปัญหาปานกลาง และร้อยละ 10.8 พบปัญหาค่อนข้างน้อย ถึง ไม่พบปัญหาเลย

เมื่อถามถึงระดับความเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และระบบออนไลน์ต่างๆ พบว่า ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50.5 ระบุ เสี่ยงค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 36.1 ระบุ เสี่ยงปานกลาง และร้อยละ 13.4 ระบุ เสี่ยงค่อนข้างน้อย ถึง ไม่เสี่ยงเลย

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 97.6 กังวลต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย และระบบออนไลน์ต่างๆ ในขณะที่เพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น ที่ไม่กังวลเลย

ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนพบเห็นมากที่สุดคือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ทำคนในชาติแตกแยกและสั่นคลอนสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังเกิดปัญหาอันตรายต่อการทำธุรกรรมการเงินการธนาคารของประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย นอกจากนั้น ประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย ถูกบูลลี่ ข่มขู่ คุกคามจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย

ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนไม่พบการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานและยังไม่เห็นการตื่นตัวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางไซเบอร์ในการปกป้องผลประโยชน์ชาติ ความมั่นคงของประเทศและประชาชน จึงสะท้อนออกมาในส่วนที่เป็นความเสี่ยงสูงต่ออันตรายจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียวระดับประเทศ โดยประชาชนตกอยู่ในสถานการณ์จำเป็นต้องใช้ ไร้อำนาจในการปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งๆ ที่มีความกังวลต่ออันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน และความไม่มั่นคงของประเทศ ความแตกแยกของคนในชาติที่ถูกกระทำโดยขบวนการในโลกโซเชียลมีเดีย จึงจำเป็นที่ภาครัฐต้องเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน ใช้ "สังคมคุมสังคม" สร้างความตระหนักรู้และตื่นตัวของประชาชน เสริมระบบลดปัญหาอันตรายทางไซเบอร์ภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยใช้อำนาจแห่งชาติ ให้น้ำหนักขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย