xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน จัดการสถานการณ์น้ำเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำเหนือที่ไหล ผ่าน กทม.และหลายจังหวัด ทำให้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำสูงขึ้น จนอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเหนือ ได้ประชุมร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากน้ำเหนือไหลหลากอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือหากเกิดฝนตกหนัก มีน้ำท่วมขัง และการก่อสร้างโครงการต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบระบายน้ำ

การป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ในพื้นที่ กทม.ได้ทำความสะอาดท่อระบายน้ำความยาว 6,564 กิโลเมตร จัดเก็บขยะวัชพืชในคลอง 1,980 คลอง ความยาว 2,743 กิโลเมตร เตรียมพร้อมสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ และบ่อสูบน้ำ 762 แห่ง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่เฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) จำนวน 10 จุด เรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวริมคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด ลดระดับน้ำในคลองและแก้มลิง 30 แห่ง และสร้างธนาคารน้ำ (water bank) จำนวน 2 แห่ง จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ กรณีฉุกเฉิน เช่น กระสอบทราย และรถเครื่องกําเนิดไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จัดเตรียมหน่วยบริการเร่งด่วน หรือหน่วย BEST เและเจ้าหน้าที่ประจําหน่วย 24 ชั่วโมง ให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และสื่อมวลชน รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาน้ำท่วมขัง ท่อระบายน้ำชํารุด อุดตัน และปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วมขังตลอด 24 ชั่วโมง

กทม.ได้จัดเตรียมแผนปฏิบัติการรับมือปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่น ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศ เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ตามจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาน้ำท่วม ควบคุมและลดระดับน้ำในคลอง แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line "เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” จัดหน่วย BESTประจำจุดเสี่ยง และรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. ขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังให้ประชาชนทราบผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมี ผอ.เขต เป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง กทม.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมน้อยที่สุด