xs
xsm
sm
md
lg

สธ.วางมาตรการรับมือยอดป่วยโควิด-19 ภาคใต้พุ่ง เชื่อคุมได้ภายใน 2 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในเขตสุขภาพที่ 12 โดยเฉพาะ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา พบว่าเขต 12 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 1,900-2,000 รายต่อวัน จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา สวนทางกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อของประเทศที่เริ่มลดลง สาเหตุหลักมาจากการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในบ้านและชุมชน แต่ยังไม่พบการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ดังนั้น จึงได้เน้นย้ำให้พื้นที่เตรียมมาตรการควบคุมโรคที่ชัดเจน ทั้งมาตรการส่วนบุคคล สื่อสารให้ประชาชนป้องกันตนเองขั้นสูงสุด (Universal Prevention) มาตรการสังคม โดยใช้กลไกของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ลดการรวมกลุ่ม ตั้ง COVID-19 Free Setting Area ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต้องเข้าถึงการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK เพื่อจะได้ทราบผลเร็ว แยกผู้ป่วยออกจากชุมชนได้เร็ว และให้โรงพยาบาลเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการหนัก ทั้ง ICU โควิด-19 หอผู้ป่วยโควิด-19 ห้องความดันลบ จัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนเพิ่มขึ้น และให้เตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และอาการน้อย เตรียมระบบ HI/CI ไว้รองรับหากมีจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกระบวนการรักษาได้เร็วขึ้น รวมถึงเร่งรัดการฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้มีความครอบคลุมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต

นายแพทย์เกียรติภูมิ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังเขตสุขภาพที่ 12 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ 1,000,000 เม็ด ชุดตรวจ ATK 20,000 ชุด Oxygen Concentrator 100 เครื่อง วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 25,000 โดส และวัคซีนไฟเซอร์ 100,000 โดส เพื่อรองรับการป้องกันควบคุมโรค และเตรียมการรักษาในพื้นที่

ด้านนายแพทย์สุเทพ เพชรมาก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าหมายควบคุมสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 12 ให้ได้ภายใน 1-2 เดือน โดยลดจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณ 10% ต่อสัปดาห์

สำหรับการเตรียมการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ จังหวัดยะลา มีเตียงรองรับในโรงพยาบาลรัฐ 9 แห่ง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง รวม 1,162 เตียง เป็นเตียงผู้ป่วยสีแดง 86 เตียง และผู้ป่วยสีเหลือง 1,076 เตียง มีโรงพยาบาลสนามแล้ว 9 แห่ง รวม 2,385 เตียง จังหวัดปัตตานี มีเตียงผู้ป่วยโควิด-19 รวม 4,100 เตียง เป็นโรงพยาบาลชุมชน 647 เตียง โรงพยาบาลทั่วไป 216 เตียง ฮอสพิเทล 3 แห่ง 557 เตียง โรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง 58 เตียง โรงพยาบาลทหาร 1 แห่ง 10 เตียง และโรงพยาบาลสนามอำเภอ 2,612 เตียง โดยได้ยกระดับโรงพยาบาลสนามให้สามารถดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และให้ออกซิเจนได้เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบุษราคัม

สำหรับภาพรวมทั้งเขตสุขภาพ ขณะนี้ใช้เตียงผู้ป่วยกลุ่มสีแดงไปแล้ว 80% สีเหลืองและเขียว 70-80% คาดว่ายังสามารถรองรับผู้ป่วยได้ และหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะสามารถส่งต่อและดูแลได้ภายในเขตสุขภาพ