น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ต่ออายุโครงการมิชลินไกด์ ไทยแลนด์ อีก 5 ปี โดยอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันปี 2565-2569 วงเงิน 8.2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135.30 ล้านบาท โดยแบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละประมาณ 27 ล้านบาท เพื่อจัดทำคู่มือแนะนำร้านอาหาร ซึ่งในระยะต่อไปนี้กำหนดพื้นที่ดำเนินการคือกรุงเทพฯ จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งต้องมีการสำรวจร้านอาหารเพิ่มอย่างน้อย 3 จังหวัด โดยเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 1 จังหวัดด้วย
โครงการมิชลินไกด์ ไทยแลนด์ ประจำปี 65-69 วงเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 135.3 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นรายปี ปีละ 820,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.06 ล้านบาท ให้แก่บริษัท Michelin Travel Partner France ซึ่งเป็นผู้ผลิตคู่มือแนะนำร้านอาหารที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในนามมิชลินไกด์ โดยงบประมาณที่ใช้ในปี 2565 จะจัดสรรงบประมาณของ ททท. และในปีที่ 2-5 ททท. จะตั้งคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีต่อไป
สำหรับกระบวนการดำเนินโครงการ จะเริ่มจากการคัดเลือกและรวบรวมรายชื่อร้านอาหารที่อยู่ในระดับมาตรฐานของมิชลิน มีขั้นตอนตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจร้านอาหาร การตรวจสอบคุณภาพและรสชาติอาหารโดยผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ของมิชลิน โดยมิชลินเป็นผู้รับผิดชอบในการคัดเลือกทีมงาน และแต่งตั้งคณะผู้ตรวจสอบเพื่อดำเนินการคัดเลือกร้านอาหารและจัดอันดับร้านอาหารอย่างยุติธรรมตามระเบียบวิธีการของมิชลิน จากนั้นจะมีการพิมพ์หนังสือ มิชลินไกด์ ไทยแลนด์ ทุกปี เพื่อแนะนำร้านอาหารที่ผ่านกระบวนการประเมินผล
ทั้งนี้ จะมีการแถลงข่าวสร้างการรับรู้การจัดทำโครงการมิชลินไกด์ ไทยแลนด์ ประจำปี 2565-2569 รวมถึงจัดงานมอบรางวัลให้แก่ร้านอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากมิชลิน พร้อมดำเนินการตรวจสอบคุณภาพร้านอาหารในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ ยังมอบสิทธิรางวัล Michelin Thailand Service Award By TAT ให้แก่ ททท. ซึ่งเป็นรางวัลใหม่ ที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์เดิม โดยเป็นรางวัลสำหรับบุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยม
ทางด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า โครงการมิชลินไกด์ ไทยแลนด์ ประจำปี 2560-2563 ที่ผ่านมา ได้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมผ่านวัฒนธรรมอาหารที่มีคุณภาพและมีมาตรฐาน และยังช่วยเพิ่มมูลค่าและศักยภาพของอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงร้านอาหารริมทาง (Street Food) ช่วยให้ร้านอาหารของไทยมีการพัฒนาและยกระดับคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐาน ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเชฟไทยสู่เวทีระดับสากล ดึงดูดเชฟชั้นนำต่างประเทศให้มาทำงานในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับ High-End มากยิ่งขึ้น