xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวปลอม! มีการฉีดโกรทฮอร์โมนเพื่อเร่งโต โดยเฉพาะบริเวณอก-ปีกไก่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากกรณีการให้ข้อมูลที่ระบุว่ามีการฉีดโกรทฮอร์โมน หรือสารเร่งโตให้กับสัตว์ที่จะนำมาบริโภค โดยเฉพาะในส่วนของอกไก่ และปีกไก่นั้น ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงสัตว์ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 417 /2528 ลงวันที่ 23 ก.ย.2529 ให้เพิกถอนทะเบียนตำรับยาสำหรับสัตว์ Hexoestrol ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ใช้ในสัตว์ปีก

หากมีการลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมาย และหากนับจากวันที่ประกาศจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลาเกือบ 35 ปีแล้วที่มีการใช้กฎหมายนี้ จึงทำให้ฮอร์โมนที่ใช้เร่งโตในไก่ดังกล่าวถูกปราบปรามจนหมดจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ไทย และเป็นไปไม่ได้เลยที่อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยจะใช้สารเร่งการเจริญเติบโต เพราะผิดทั้งกฎหมายของไทย และขัดต่อข้อบังคับของสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งเป็นกลุ่มประเทศคู่ค้าสำคัญซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

นอกจากนี้ สายพันธุ์ไก่เนื้อที่ผู้ประกอบการเลี้ยงในปัจจุบันผ่านการปรับปรุงพันธุ์มาอย่างยาวนานจนเติบโตเร็ว ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนในการเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและผิดกฎหมายแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้มุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาโดยตลอด รวมถึงผู้ประกอบการมีการพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้ปรับปรุงพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เนื้อ ให้มีระบบการป้องกันโรคที่ดี เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ทันสมัย ผ่านมาตรฐานฟาร์มที่กรมปศุสัตว์รับรอง จึงไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งโต เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งไทยและตลาดโลก

กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่าในปัจจุบัน เนื้อไก่ไม่มีการฉีดฮอร์โมนแต่อย่างใด จึงขอฝากให้ผู้บริโภคควรเลือกแหล่งที่มาของเนื้อไก่ว่าผ่านการตรวจสอบจากระบบมาตรฐาน โดยดูจากตราสัญลักษณ์ต่างๆ บนบรรจุภัณฑ์ ที่สำคัญเน้นใส่ใจตั้งแต่การเลือกซื้อเนื้อไก่มาบริโภค โดยทั้งผู้บริโภคโดยทั่วไปให้สังเกตสถานที่จำหน่ายไข่สดที่มีตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากมั่นใจได้ว่าเนื้อไก่มาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP 100% ผลิตจากโรงฆ่ามาตรฐานและตรวจสอบย้อนกลับได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dld.go.th หรือโทร. 02 6534444