นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ว่า เป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อแก้ไขปัญหา อุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน การบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ตลอดจนแผนงาน แผนคน และแผนงบประมาณ รวมทั้งติดตามข้อสั่งการที่กระทรวงต่างๆ ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกฝ่าย ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มดีขึ้น และรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการทำงานต่อไปให้ยึดหลัก 3 เรื่อง ได้แก่
1. Hardware คือ โครงสร้างต่างๆ แนวคิด นโยบาย งานตามหน้าที่ Function และงาน Agenda
2. Software คือ งานในส่วนที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม รวมถึงเรื่องที่จะต้องแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น การแก้ไขกฎหมาย แพลตฟอร์มต่างๆ การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ความคิดริเริ่มต่างๆ
3. การเตรียมการด้านทรัพยากรมนุษย์รองรับโลกยุคใหม่และหลังสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งเร่งสร้างความเข้าใจว่าจะต้องอยู่กับโควิด (Live with COVID) ประเทศชาติก้าวผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปได้
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ภาคราชการต้องปรับตัว ปรับหลักคิด ปรับหลักการทำงานเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมต่างๆ มาเสริมการทำงาน เป็นภาคราชการที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน (Open and Connected) ตามแนวทางของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พร้อมกันนี้ ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งการระบายน้ำ การกักเก็บน้ำ การบริหารจัดการลุ่มน้ำต่างๆ ของประเทศ น้ำด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การดูแลน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนอย่างเพียงพอ การดูแลน้ำในการผลักดันน้ำเค็ม การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง เป็นต้น ภายใต้การบริหาราชการของรัฐบาล สทนช. ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเข้ามาปรับใช้ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถลดการสูญเสียและค่าเสียต่างๆ ได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกันและจัดหาเครื่อมือ ตลอดจนยุโธปกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมสถานที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น สถานที่โรงพยาบาล สถานที่ราชการ พื้นที่ธุรกิจ และที่อยู่อาศัยประชาชน เป็นต้น