xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ปรับระบบตรวจสอบก่อนจ่าย เพื่อความรวดเร็ว ป้องกันการถูกสวมสิทธิ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. กล่าวว่า การตรวจสอบเวชระเบียนเป็นกระบวนการขั้นตอนสำคัญ ในการดำเนินงานควบคู่กับการเบิกจ่ายเงินชดเชยให้หน่วยบริการต่างๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ถือเป็นระบบการตรวจสอบปกติของการดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในทุกประเทศ โดยในส่วนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการจัดทำระบบตรวจสอบและดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุที่ต้องมีระบบการตรวจสอบนี้ เพื่อความถูกต้องของข้อมูลเบิกจ่ายค่าชดเชย ซึ่งในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการต่างต้องมีระบบตรวจสอบเช่นเดียวกัน

ที่ผ่านมา การตรวจสอบจะเป็นการตรวจสอบหลังจ่าย หรือ Post Audit มีข้อดีคือ จ่ายเงินได้เร็ว หน่วยบริการได้เงินไปใช้ได้เร็ว รักษาสภาพคล่อง แต่ข้อเสียคือ พบความไม่ถูกต้องทีหลัง ต้องเรียกเงินคืนและมีกระบวนการที่ยุ่งยากตามมาอีกหลายเรื่อง

ในปีนี้ สปสช.ปรับระบบใหม่ จะทำการตรวจสอบก่อนจ่าย หรือ Pre Audit ตรวจสอบให้เสร็จก่อนจะจ่ายเงิน เริ่มจากการพิสูจน์ตัวตนก่อนว่ามีการรับบริการจริงหรือเปล่า เพื่อป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ โดยจะเริ่มจากรายการที่มีการกำหนดเป็นรายการเฉพาะ เช่น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กลุ่มเสี่ยง ที่มีการพิสูจน์ตัวตนก่อนการฉีด รวมถึงการแจก ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงตรวจโควิดด้วยตนเอง ที่จะเริ่มในวันที่ 16 กันยายน 2564 สปสช.ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย พัฒนาต่อยอดแอปเป๋าตัง ในการรับชุด ATK โดยใช้หลักการพิสูจน์ตัวตน (KYC) ของธนาคารที่เข้มงวดและมีความน่าเชื่อถือ เมื่อนำระบบนี้มาใช้ จะทำให้เป็นที่ยอมรับของหน่วยตรวจสอบ และทำให้การจ่ายเงินชดเชยมีความถูกต้อง

วิธีนี้จะลดปัญหาการเรียกเงินคืน การเสียเวลาตรวจสอบในภายหลัง อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินด้วยว่า จะเพิ่มภาระของหน่วยบริการหรือไม่ เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการของประชาชนหรือเปล่า ทำให้ล่าช้ากว่าระบบเดิมหรือไม่

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประกอบกับปริมาณข้อมูลการเบิกจ่ายในฐานข้อมูลของ สปสช. ที่มีเป็นจำนวนมาก ทำให้การเรียนรู้ของระบบ AI มีประสิทธิภาพมาก คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบแนวทางการพัฒนาระบบสารสนเทศ โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ขั้นต้นของรายการต้องสงสัยการเบิกจ่ายเงินชดเชยอัตโนมัติด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Pre-audit automation system) คือการนำ AI มาตรวจสอบก่อนการจ่ายเงิน

โฆษก สปสช. กล่าวว่า การนำ AI เข้ามาใช้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายมีความถูกต้องมากขึ้น สามารถตรวจจับข้อมูลต้องสงสัยทันที (real-time audit) สามารถตรวจสอบข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ลดการสูญเสียงบประมาณ และทำให้เกิดการพัฒนาการส่งข้อมูลที่มีความถูกต้อง เมื่อเราใช้ AI เข้ามาช่วยตรวจสอบ ก็จะทำให้กระบวนการเบิกจ่ายเป็นไปได้รวดเร็วและกว้างขวางมากขึ้น อะไรก็ตามที่ไม่ผ่าน เราสามารถให้หน่วยบริการส่งมาเพิ่มได้ทันที ส่วนอะไรที่ผ่าน เราก็มั่นใจได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีความสมบูรณ์พอ และสามารถจ่ายชดเชยได้