นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทยวันนี้ (9 ก.ย.) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 16,031 ราย เป็นธรรมชาติของระบบเก็บข้อมูลสาธารณสุขที่อาจมีการแกว่งตัวขึ้นในวันเดียว เช่นเดียวกับประเทศสหรัฐฯ ที่มีการทบจำนวนผู้เสียชีวิต ทำให้ผู้เสียชีวิตในทุกๆ วันอาทิตย์ จะอยู่ที่ประมาณหลักร้อย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตในวันศุกร์ จะแกว่งตัวสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณหลักพัน ดังนั้นการดูจำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิต รวมถึงแนวโน้มในอนาคต ควรดูจากตัวเลขย้อนหลังเฉลี่ย 7 วัน
ยืนยันว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสามารถแกว่งตัวได้ เป็นปกติของระบบการเก็บข้อมูล ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งกังวลใจกับตัวเลขที่แกว่งขึ้นมาในวันนี้ และมองว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศน่าจะผ่านจุดสูงสุดมาแล้ว
สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังไม่ลดลง โดยยังคงอยู่ในระดับ 200 รายต่อวันนั้น มาจากการเข้ารักษาตัวของผู้ป่วยที่มีระยะเวลาที่แตกต่างกันจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดหนัก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการติดเชื้อในประเทศมีมุมมองที่ค่อนข้างดี ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดลงได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีแนวโน้มลดลง
ส่วนแนวโน้มของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหนัก หรือปอดอักเสบ ภาพรวมจากวันที่ 2 กันยายน 2564 อยู่ที่ 4,740 ราย มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับล่าสุด วันที่ 8 กันยายน 2564 อยู่ที่ 4,364 ราย ในส่วนของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็ลดลงเช่นกัน จากวันที่ 2 กันยายน 2564 อยู่ที่ 1,011 ราย เมื่อเทียบกับวันที่ 8 กันยายน 2564 อยู่ที่ 940 ราย
ขณะที่การค้นหาเชิงรุกที่ลดลง เนื่องจากมีการพิจารณาว่าขณะนี้การแพร่ระบาดลดน้อยลง และผู้สัมผัสเชื้อไม่อยู่ในวงกว้าง จึงมีแหล่งคลัสเตอร์ลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ได้มีระบบเฝ้าระวังพิเศษในการสุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยง เช่น ในกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างการเตรียมแผนสุ่มตรวจแรงงานในตลาด เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังติดตามแนวโน้มผู้ติดเชื้อ เนื่องจากตัวเลขเหล่านี้จะเป็นข้อพิจารณา หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการให้เปิดกิจกรรมและกิจการต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา จะมีการพิจารณาสถานการณ์ทุก 2 สัปดาห์ โดยหากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายอาจมีการเปิดกิจการเพิ่มเติม หรือหากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจก็อาจมีการตรึงมาตราการไว้ต่อ
นอกจากนี้ นายแพทย์เฉวตสรร ยังได้กล่าวถึงการใช้วัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดส ว่า ล่าสุดฉีดไปแล้ว 9 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดส ยืนยันว่าไม่สูญหายแน่นอน จะมีการจัดสรรให้สำหรับกลุ่มเสี่ยง 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีอาการ 7 โรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่อาศัยในพื้นที่สีแดงเข้ม สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว และต้องได้รับเข็มที่สองในเวลา 3-4 สัปดาห์ถัดมา รวมทั้งมีการจัดสรรบางส่วนให้กับชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น คาดว่ามีการฉีดที่ครอบคลุมเกือบหมดแล้ว