กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียประกาศขึ้นทะเบียนให้มีการใช้งานในกรณีฉุกเฉินวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีชื่อทางการค้าคือ ไซคอฟ-ดี (ZyCoV-D) ของบริษัท คาดิลา เฮลท์แคร์ (Cadila Healthcare) ในอินเดีย โดยเป็นวัคซีนตัวแรกของโลกที่พัฒนาจากพลาสมิด ดีเอ็นเอ (Plasmid DNA) และเป็นตัวแรกของโลกที่ไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา เพราะจะใช้เครื่องมือเฉพาะในการส่งวัคซีนซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายด้วยความเร็วสูง และเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวที่สองที่อินเดียพัฒนาขึ้นเองต่อจากวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายของบริษัท ภารัต ไบโอเทค
ทั้งนี้ บริษัทคาดิลลา เฮลท์แคร์ ผู้พัฒนาวัคซีนไซคอฟ-ดี ได้ยื่นเรื่องขออนุมัติการใช้งานต่อรัฐบาลอินเดีย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม โดยระบุประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อหลังการรับวัคซีนจำนวน 3 โดส อยู่ที่ร้อยละ 66.6 ในการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 ในกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 28,000 คนทั่วประเทศ ในศูนย์มากกว่า 50 แห่ง โดยเป็นครั้งแรกที่อินเดียมีการทดสอบวัคซีนในกลุ่มอายุ 12-18 ปี จำนวนประมาณ 1,000 คน วัคซีนนี้สามารถเก็บรักษาในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส และบริษัทวางแผนที่จะผลิตวัคซีนปีละ 120 ล้านโดส