พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตรวจความพร้อมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อกลาง กรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร แห่งที่ 3 (Community Isolation : CI) ณ โรงซ่อมบำรุงรถไฟสถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร
ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อกลาง กรุงเทพมหานคร โรงซ่อมบำรุงรถไฟสถานีกลางบางซื่อ เขตจตุจักร แห่งนี้ เป็นไปตามนโยบายที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแห่งใหม่ เพื่อเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่ยังไม่มีอาการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
ศูนย์ฯ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง แบ่งเป็นชาย 200 เตียง และหญิง 200 เตียง พร้อมเปิดให้บริการวันนี้ (17 ส.ค.) ตั้งแต่เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป มีโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เป็นผู้บริหารจัดการผู้ป่วย ขณะที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้การสนับสนุนระบบอินเทอร์เน็ต
ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ จะดำเนินงานตามมาตรการความปลอดภัยในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะมีจุดลงทะเบียน จุดคัดกรองผู้ป่วย จุดวัดอุณหภูมิและวัดค่าออกซิเจน จุดบริการอาหารและน้ำดื่ม ติดตั้งเตียงจัดวางที่นอน ติดตั้งระบบไฟฟ้าเพิ่มเติม ระบบเสียงตามสาย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบอินเทอร์เน็ต ติดตั้งพัดลม ฉีดพ่นยากำจัดยุงลาย ทำความสะอาดห้องน้ำและห้องสุขา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อ
นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย เช่น ชุดเครื่องนอน มุ้ง ผ้าเช็ดตัว ครีมอาบน้ำ ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation : CI) เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีผลตรวจรับรองว่าติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 69 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 9,190 เตียง โดยมีการยกระดับศูนย์พักคอย 7 แห่ง ให้เป็นศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนาม (Community Isolation Plus : CI Plus) เพื่อรองรับผู้ป่วยระดับสีเหลืองให้ได้รับการรักษาเพิ่มขึ้น รองรับผู้ป่วยได้ 990 เตียง ขณะนี้ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อของกรุงเทพมหานครเปิดรับผู้ป่วยแล้ว 64 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 8,322 เตียง อัตราการครองเตียงขณะนี้ 3,609 เตียง เตียงว่าง 4,713 เตียง โดยแยกผู้ป่วยออกมาจากบ้าน นำมาพักคอยที่ศูนย์ฯ เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดและติดเชื้อของคนในครอบครัวและชุมชน มีการคัดกรองอาการและดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อรอการส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลตามการประเมินจากแพทย์ ด้านโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,706 เตียง อัตราการครองเตียง 3,428 เตียง คิดเป็นร้อยละ 92.5 นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีศูนย์พักคอยแบบ Semi Community Isolation (Semi CI) อีก 28 แห่ง สามารถรับผู้ป่วยได้ 1,487 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ส.ค. 64)