นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยเฉพาะดัชนีโดยรวมอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 274 เดือน หรือ 22 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวในช่วงเวลา 21.00-04.00 น. ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 35.3 38.0 และ 49.6 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 37.3 40.0 และ 52.1 ตามลำดับ ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤตโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสปรับตัวแย่ลงได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคลดลงในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิด-19 รอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้รวดเร็วเพียงใด รัฐบาลจะมีการประกาศล็อกดาวน์เพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัว 0 ถึงติดลบร้อยละ 2 ได้