นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม แถลงความคืบหน้าการให้บริการของโรงพยาบาลบุษราคัม ว่า โรงพยาบาลบุษราคัม เปิดให้บริการที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 รวมทั้งหมด 3 ฮอลล์ รองรับ 3,700 เตียง ข้อมูล ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยสะสม 12,929 ราย รักษาหายแล้ว 9,000 ราย ส่วนหนึ่งส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ขณะนี้เหลือรักษาประมาณ 3,500 ราย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกที่รับผู้ป่วย (14 พ.ค.-31 มิ.ย.) รวมประมาณ 1 เดือนครึ่ง ใช้เตียงประมาณ 2,000 เตียง ผู้ป่วยสะสมช่วงแรก 4,200 ราย ยังไม่มีผู้ป่วยสีแดงที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต่อมาในเดือนมิถุนายน มีเพิ่มขึ้นเป็น 2% ขณะที่เฉพาะเดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วยเกือบ 9,000 ราย อีกทั้งพบว่า ผู้ป่วยมีอาการหนัก มีความซับซ้อนมากขึ้น มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเฉลี่ยทั้งเดือนอยู่ที่ 5% แต่เฉพาะครึ่งเดือนหลังตัวเลขเกือบถึง 10%
นอกจากนั้น ยังมีการใช้เครื่องให้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัม เตรียมจุดบริการไว้ 800 จุด สำหรับจำนวนผู้ป่วย 3,500-3,700 เตียง โดยเมื่อ 3-4 วันก่อน ใช้ออกซิเจนไปเกือบหมดที่ 750 จุด ซึ่งตระหนักว่า ผู้ป่วยมีอาการหนักซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จำเป็นต้องจัดหาเครื่องผลิตออกซิเจนมาเสริม โดยได้สั่งซื้อไปแล้ว 550 เครื่อง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่าจะยังคงมีการระบาดต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง
นายแพทย์กิตติศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลบุษราคัม ให้บริการผู้ป่วยทุกประเภท ยิ่งปัจจุบันอาการซับซ้อนมาก รุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยช่วงต้นเดือนใช้เครื่องช่วยหายใจ 50-60 เครื่อง แต่ปัจจุบันใช้ 160 เครื่องเป็นบางวัน และประเภทของผู้ป่วย ซึ่งในผู้ป่วยหลายส่วนการดูแลอาจไม่ 100% เต็มที่เหมือนอยู่โรงพยาบาล เพราะสถานการณ์ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่ก็จะพยายามเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบโรงพยาบาลก่อน และพยายามบริการให้ใกล้เคียงเหมือนอยู่โรงพยาบาลมากที่สุด
นายแพทย์กิตติศักดิ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำหอผู้ป่วยวิกฤต 17 เตียง พร้อมระบบความดันลบเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตอาการหนัก คาดว่าจะเปิดได้ในสัปดาห์หน้า มีเครื่องมือครบตามแบบไอซียู และมีทีมแพทย์พยาบาลประจำไอซียู ซึ่งกำลังเดินทางมาจากต่างจังหวัดในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.)