xs
xsm
sm
md
lg

กรมควบคุมโรคเผยหากไม่ล็อกดาวน์เข้มข้นจะมีผู้ติดเชื้อถึง 4 หมื่นราย/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวผ่านเพจ กระทรวงสาธารณสุข ในวันนี้ (30 ก.ค.) ว่า จากการทำแบบจำลองการคาดการณ์จากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในอนาคต 3-4 เดือนข้างหน้า เทียบกับการระบาด และมาตรการที่ดำเนินการเพื่อควบคุมป้องกันโรค โดยเฉพาะมาตรการล็อคดาวน์ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ หากไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ ไม่มีมาตรการที่เข้มข้นจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันสูงเกิน 40,000 รายได้ สูงสุดจะอยู่ประมาณวันที่ 14 กันยายน 2564 แต่หากมีมาตรการการล็อกดาวน์ จะมีการคำนวนออกมา 4 รูปแบบคือ

1. หลังล็อกดาวน์ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการอยู่ที่บ้านมากที่สุด การหยุดกิจกรรมชุมนุมรวมตัวของกลุ่มคน หากการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อได้ 20% นาน 1 เดือนตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันจะลดลงจาก 40,000 กว่าราย เหลือประมาณ 30,000 กว่าราย และจุดสูงสุดจะอยู่ต้นเดือนตุลาคม

2. หากใช้มาตรการล็อกดาวน์นานกว่านี้ หรือมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ทุกคนอยู่กับบ้าน มีประสิทธิภาพช่วยลดการติดเชื้อได้ 25% นาน 1 เดือน สถานการณ์จะใกล้เคียงกัน

3. ถ้าล็อกดาวน์นานขึ้นกว่าเดิม 20% จะทำให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดเหลือประมาณ 20,000 กว่าราย และ 4. ถ้าการล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ตัวเลขจะต่ำลง

ส่วนการคาดการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตต่อวัน โดยหากไม่มีมาตรการใดๆ ไม่มีการล็อกดาวน์นั้น จากแบบจำลองพบว่า จะมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 รายต่อวัน จุดสูงสุดจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 28 กันยายน 2564 แต่หากมาตรการเริ่มล็อกดาวน์ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะไม่เกิน 400 รายต่อวัน จุดสูงสุดจะอยู่ที่วันที่ 26 ตุลาคม ภายใต้การดำเนินการมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพ 20-25 % อย่างไรก็ตามถ้าล็อกดาวน์ยาวนานขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลง จุดสูงสุดจะอยู่กลางเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีการติดเชื้อในหมู่ประชาชนค่อนข้างกว้างขวาง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคกลาง ดังนั้นการร่วมมือของประชาชนลดกิจกรรมไม่จำเป็น พยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ และสแกนไทยชนะ จะช่วยทำให้มาตรการส่วนบุคคลในการป้องกันการติดเชื้อสู่ชุมชนอื่นๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขอความร่วมมือในการนำกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเรื้อรังไปรับวัคซีนตามที่กำหนดในสถานที่ต่างๆ จะทำให้เราสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และลดการเสียชีวิตไม่มากอย่างที่คาดการณ์ จึงต้องขอความร่วมมือจากประชาชน