ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กหัวข้อ โควิด 19 วัคซีน การติดเชื้อหลังได้รับวัคซีนครบแล้ว ระบุว่า จากการศึกษาติดตามอาสาสมัครในโครงการวิจัย ในระยะยาวหลังได้รับวัคซีน ทั้งชนิดเชื้อตายและไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทย เป็นจำนวนกว่า 100 รายในแต่ละกลุ่ม พบการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ เช่น
อาสาสมัครรายที่ 1 ฉีดวัคซีนไวรัส vectors (AZ) ห่างกัน 10 สัปดาห์ หลังเข็มหนึ่งจะเห็นว่าภูมิต้านทานขึ้นสูง ถึง 450 ยูนิต และเมื่อมาที่ 10 สัปดาห์ภูมิต้านทานก็ลดลงมาเหลือ 203 ยูนิต ได้ให้วัคซีนเข็มที่ 2 อีก 1 เดือนต่อมา ภูมิต้านทานขึ้นไปเป็น 514 ยูนิต และหลังจากนั้นอีกไม่นาน อาสาสมัครรู้สึกเจ็บคอเวียนศีรษะไม่มีไข้ มีน้ำมูกและไอ จึงไปซื้อชุดตรวจมาตรวจ ผลปรากฏว่าได้ผลบวก จึงได้แจ้งมา และได้ทำการตรวจ rt-pcr ยืนยันการติดเชื้อ ผู้ป่วยรายนี้ไม่มีไข้เลย ให้รักษาตัวแบบเก็บตัวอยู่บ้าน จนถึงวันนี้ไม่มีอาการอะไรนอกจากจมูกไม่ได้กลิ่น (ตามรูปที่ 1)
อาสาสมัครรายที่ 2 รับวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) ครบ 2 เข็ม และติดตามภูมิต้านทานมาตลอดจนอาสาสมัครจะเข้าโครงการวิจัยมาตลอดและ จะทำการศึกษาการกระตุ้นเข็มสาม จากการติดตามภูมิต้านทานจะเห็นว่า(ตามรูปที่ 2) ภูมิต้านทานของอาสาสมัครกระโดดขึ้นไปสูงมาก จึงได้ย้อนถามประวัติว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ก็พบว่า เมื่อถามไปก็ตอบว่ามีอาการแต่ไม่คิดว่าเป็น เมื่อซักในรายละเอียดจึงรู้ว่า อาสาสมัครมีอาการแต่น้อยมากๆ และไม่ได้ไปหาหมอ รับการตรวจอย่างไร ในขณะที่อยู่กันสามคน กับพ่อแม่ที่อายุมากแล้ว พ่อแม่ก็ไม่ได้มีการติดเชื้อแต่อย่างใด แสดงว่าวัคซีน ช่วยลดอาการและป้องกันไม่ให้ไปติด พ่อแม่ที่มีอายุมาก ในรายนี้เห็นได้ชัดว่า มีการติดเชื้อเพราะมีภูมิต้านทานต่อ nucleocapsid ขึ้นไปสูงมากถึง 8.89 และภูมิต้านทานกระโดดไปสูงแบบผิดปกติเป็นหมื่น แสดงถึงการติดเชื้อแน่นอน ถ้าเป็นคนทั่วไปไม่ได้ตรวจเลือดจะไม่รู้เลยว่าติดเชื้อ
จากตัวอย่างทั้ง 2 รายแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่แทบจะไม่มีอาการอะไร และเป็นที่น่าสังเกตว่าในอาสาสมัครคนที่สอง อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุ แบบปกติก็ไม่ได้มีการติดโรคไปถึงท่าน เพราะไม่รู้ตัวด้วยว่าเป็น