สภากาชาดไทยประกาศความคืบหน้าการจัดสรรควัคซีนโมเดอร์นาให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อนำไปฉีดแก่ประชาชน ว่า "ตามที่สภากาชาดไทยได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เรื่องขอความร่วมมือในการแจ้งจองวัคซีนสำหรับฉีดให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่น ๆ โดยไม่คิดมูลค่า ตามแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประชาชนของสภากาชาดไทย
โดยกำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสั่งจองเข้ามายังสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ภายในเวลา 12.00 น. ของวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นั้น
สภากาชาดไทย ขอเรียนให้ทราบว่า ขณะนี้มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งสิ้น 38 จังหวัดที่ดำเนินการแจ้งการจองวัคซีนเข้ามายังสภากาชาดไทย ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ชลบุรี ราชบุรี อุดรธานี สระบุรี มหาสารคาม สิงห์บุรี ลำพูน กระบี่ แพร่ สมุทรสาคร เพชรบูรณ์ นครปฐม ร้อยเอ็ด นครนายก พะเยา กาฬสินธุ์ พระนครศรีอยุธยา น่าน นราธิวาส ศรีสะเกษ สุพรรณบุรี อุทัยธานี เชียงราย สุโขทัย อ่างทอง ภูเก็ต อุตรดิตถ์ มุกดาหาร ตาก ชุมพร พังงา ลพบุรี สุรินทร์และปัตตานี
โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 38 จังหวัด ได้นำเสนอแผนการฉีดวัคซีนตามกลุ่มเป้าหมายที่สภากาชาดไทยกำหนด และผ่านการพิจารณาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เซ็นกำกับรับรองส่งมายังสภากาชาดไทย เพื่อพิจารณาจัดสรรโควต้าวัคซีน พร้อมชำระเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ราคา 1,100 บาท/โดส) ซึ่งสภากาชาดไทยจะทยอยจัดสรรวัคซีนให้ไปดำเนินการฉีดให้แก่ประชาชน โดยไม่คิดมูลค่าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป
แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนสำหรับประชาชนของสภากาชาดไทย
1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องจัดทำ “แผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน” เพื่อนำวัคซีนไปฉีดให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ตามที่สภากาชาดไทยกำหนด พร้อมจำนวนคนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 5 กลุ่ม ตามลำดับ ได้แก่
1) คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง สตรีตั้งครรภ์ ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน
2) ผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน
3) บุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล ในถิ่นทุรกันดาร
4) ผู้ที่ทำงานประจำอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครูผู้สอนในโรงเรียนอนุบาล หรือครู อาจารย์ ผู้ที่ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียน ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน
5) บุคลากรที่ต้องออกปฏิบัติงานสัมผัสประชาชน ตามโครงการฉีดวัคซีนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาก่อน และบุคคลที่ยังไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากติดขัดระเบียบหรือกฎหมาย
2. องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องเสนอ “แผนการขอรับการจัดสรรวัคซีน” โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด
3. เงื่อนไขที่สำคัญ ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องดำเนินการ ดังนี้
1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการกับสภากาชาดไทย ต้องสนับสนุนงบประมาณค่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Moderna ราคา 1,100 บาท/โดส ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อนำไปจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 Moderna มาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
2) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ต้องจัดบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยไม่คิดมูลค่าและห้ามนำไปจำหน่ายโดยเด็ดขาด
3) เมื่อสภากาชาดไทย แจ้งการจัดสรรโควต้าให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว ขอให้ชำระเงินเต็มตามจำนวนที่ได้รับอนุมัติจากสภากาชาดไทย ภายในวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ก่อนเวลา 12.00 น.
4) สภากาชาดไทยจะทยอยจัดสรรวัคซีนได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป