นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม ผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่าหมดเวลาของรัฐบาลที่ไร้ความรับผิดชอบทางการเมือง “ขอโทษ” ไม่พอ / ต้อง “ลาออก” และ “แก้รัฐธรรมนูญ”เท่านั้น
คงไม่มีใครคาดหวัง ว่ารัฐบาลใดๆ ก็ตาม จะสามารถการแก้ไขทุกปัญหาได้อย่างไร้ข้อผิดพลาด แต่สิ่งที่เราควรจะคาดหวังได้จากทุกรัฐบาลคือ “ความรับผิดชอบ” ทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขาดมาโดยตลอด
“ความรับผิดชอบ” ขั้นพื้นฐานที่สุดที่รัฐบาลควรจะมี คือการสำรวจตัวเองว่าทำอะไรลงไปบ้าง หากผิดพลาดก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าตัวเองทำอะไรพลาดไป และ ปรับแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
ในขณะที่รัฐบาลมัก “สั่งสอน” ประชาชนอยู่เสมอ ว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ต้องให้ประชาชน “เริ่มต้นที่ตัวเอง” แต่รัฐบาลนี้ไม่เคย “เริ่มต้นที่ตัวเอง” เลยสักครั้ง ในการบริการทั้งวิกฤตสาธารณสุข วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเมือง ที่ประเทศเรากำลังเผชิญอยู่
1. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ข้อเสนอจากหลายฝ่ายในช่วงแรกๆของการระบาด ให้สรรหาวัคซีนหลากหลายยี่ห้อตั้งแต่ต้นเพื่อกระจายความเสี่ยง
รัฐบาลก็มัวแต่ไปไล่ฟ้องคนที่ออกมาทักท้วงเพียงเพราะเขามาจากขั้วตรงข้ามทางการเมือง และไม่เอาเวลาไปพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงข้อดีของการเข้าร่วมโครงการ COVAX
2. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตัวเองดำเนินการล่าช้าและบริหารอย่างผิดพลาดมหาศาลในการตกลงสัญญากับ AstraZeneca เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่ประกาศกับประชาชน
รัฐบาลกลับเลือกปกปิดข้อมูลและ “โกหก” ต่อหน้าประชาชนกลางสภา จนกระทั่งความจริงถูกเปิดโปงจากจดหมายระหว่าง AstraZeneca กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าวัคซีน Sinovac ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA และรีบทำทุกวิถีทางให้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า ถูกฉีดเข้าร่างกายบุคลาการทางการแพทย์ด่านหน้าได้เร็วที่สุด
รัฐบาลกลับดึงดันที่จะสั่ง Sinovac เข้ามาเพิ่ม แถมใช้เวลาไปมากมายกับการงัดสารพัดเหตุผล เพื่อพูดถึงข้อดีของวัคซีนที่แม้กระทั่งประเทศเจ้าของอย่างจีน ยังไม่เลือกที่จะใช้เพิ่ม
4.แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ความจริง ว่าการล็อกดาวน์อาจมีความจำเป็น แต่ต้องมาควบคู่กับแผนการเยียวยาที่เพียงพอ ครอบคลุม และ ทันท่วงที เพื่อชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนจำนวนมาก
รัฐบาลกลับขาดความชัดเจนในการประกาศมาตรการ ขาดความรวดเร็วในการวางแผนการเยียวยา และขาดความเข้าใจในความยากลำบากของประชาชน ยังไม่รับการจงใจเลี่ยงบาลีไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” เพื่อเลี่ยงความรับผิดชอบของรัฐบาลในการเยียวยาประชาชน
5. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าระบบสาธารณสุขของเรากำลังขาดแคลนทรัพยากรอย่างสาหัส ทั้งจำนวนเตียง ปริมาณยา และ บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทำให้งบประมาณสาธารณสุขต้องได้รับความสำคัญที่สุดในการักษาความมั่นคงของประเทศ
รัฐบาลกลับยังคงใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงรูปแบบเดิมๆ เพื่อจัดสรรงบประมาณมาให้กับ “ของเล่น” ต่างๆของกองทัพที่ไม่จำเป็น หรือ “โครงการเชิงวัฒนธรรม” ต่างๆที่อยู่รอดมาได้จากความเคยชิน แต่ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชาชน
6. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าการตนเองดำเนินการอย่างไร้ความโปร่งใส คัดเลือกบุคลากรมาดำรงตำแหน่งสำคัญที่ขาดความสามารถและเต็มไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และ เผชิญข้อครหาเรื่องการทุจริตที่ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลก่อนๆที่ตนเองชอบต่อว่า
รัฐบาลกลับมัวแต่ไปป่าวประกาศอย่างไร้ประโยชน์ ให้การกำจัดการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ แถมใช้เวลาในสภาไปกับการกระแนะกระแหนรัฐบาลก่อนๆมากกว่าการชี้แจงคำถามต่อการทำงานของตนเอง
7. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าอำนาจที่ตนเองมีอยู่ในทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากการแข่งขันที่เป็นธรรมในการครองใจประชาชน แต่มาจากรัฐธรรมนูญที่ตนเองเขียนขึ้นมาเองเพื่อสืบทอดอำนาจตนเอง ผ่านองค์กรที่ไร้ศักดิ์ศรีอย่างวุฒิสภา ที่มีทั้งอำนาจทั้งเลือกนายกฯ และอำนาจแต่งตั้ง กกต. ให้เข้ามาบิดสูตรคำนวน ส.ส. เพื่อพลิกผลเลือกตั้ง
รัฐบาลกลับอ้างอยู่เสมอว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญเรายังเขียนให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจมากกว่าประชาชน 19 ล้านคน
8. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองมีส่วนสำคัญในการตั้งใจลากหรือปล่อยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไหลเข้ามาในความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการกล่าวอ้างและผูกขาดความจงรักภักดี หรือผ่านความไม่กล้าหาญของนายกรัฐมนตรีที่จะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อมีการกระทำใดที่สุ่มเสี่ยงจะขัดกับหลักระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
รัฐบาลกลับเลือกปราบประชาชนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 และผลักไสไล่ส่งหลายคนที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูป ว่ามีเจตนาล้มลางสถาบันฯ
9. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองตัดสินใจพลาดในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการโควิด จนทำให้ชีวิตประชาชนจำนวนมากยังต้องอยู่บนเส้นดาย ที่ล้อมรอบไปด้วยทั้งโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจ และทำให้สถานการณ์ของประเทศไทยทรุดโทมกว่าอีกหลายประเทศทั่วโลก
แต่รัฐบาลกลับชอบอ้างว่าประเทศอื่นก็เผชิญวิกฤต และชอบหาสารพัดสถิติมาใช้ในแถลงการณ์ ศบค. เพื่อทำให้สถานการณ์ในประเทศไทยดูดีกว่าที่เป็นจริง โดยไม่เคยเอ่ยปากขอโทษประชาชน เหมือนกับผู้นำในอีกหลายประเทศทั่วโลก ที่อาจเคยตัดสินพลาดบ้างในบางครั้ง
10. แทนที่รัฐบาลจะ “ยอมรับ” ว่าตนเองกำลังทำลายความฝันของประชาชนจำนวนมากที่ต้องการเห็นบ้านเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้าง และใช้เวลานั่งคิดกับตัวเองบ้าง ว่าทำไมประชาชนจำนวนมาก จึงยอมเสี่ยงชีวิตตนเอง เพื่อออกมาต่อสู้บนท้องถนน
รัฐบาลกลับเลือกที่จะตอบโต้ด้วยวิธีการอำมหิต ที่ขัดหลักสากล ขาดความเป็นมนุษย์ และขาดความจริงใจในการรับฟังหรือแก้ไขปัญหาร่วมไปกับประชาชนจำนวนมากที่เป็นเจ้าของประเทศนี้เช่นกัน
ถ้าหากนายกฯและรัฐบาล เคยแสดงให้เห็นมาก่อนถึง “ความรับผิดชอบทางการเมือง” ขั้นพื้นฐาน ที่พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด ปรับปรุงตนเอง และเดินหน้าแก้ไขปัญหาด้วยความเห็นอกเห็นใจ คำว่า “ขอโทษ” อาจพอซื้อเวลาพวกท่านได้ ก่อนที่พวกท่านจะต้องถูกตัดสินโดยประชาชนในสนามเลือกตั้ง ที่ต้องเสรีและเป็นธรรม และต้องปราศจากกลไกการสืบทอดอำนาจอย่าง ส.ว. 250 คน หรือ กกต. ที่พวกท่านแต่งตั้งเอง
จนมาถึงวันนี้ คำว่า “ขอโทษ” ไม่เคยออกจากปากพวกท่าน
ถึงคำขอโทษ ยังจำเป็นอยู่ต่อการรักษาเกียรติของตัวท่านเอง แต่มันไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วต่อการรักษาบาดแผลที่ท่านได้สร้างให้กับประเทศและประชาชน
การลาออกของพวกท่าน และ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เท่านั้น ถึงจะเพียงพอ ต่อการที่ประเทศเดินไปข้างหน้า ด้วยการเมืองที่ช่วยชีวิตประชาชน